ชื่อเรื่องวิจัย รายงานการวิจัย การพัฒนาเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้
เป็นสื่อ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางบุญสม ท้าวทอง ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด(กวีธรรมสาร)
กองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
ปีที่ทำวิจัย ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการพัฒนาเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในด้านการพัฒนาเทคนิค การสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2)เพื่อพัฒนาเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อสำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อศึกษาผลของการใช้เทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 4) เพื่อประเมินและปรับปรุงเทคนิคการสอนการเขียน เชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด(กวีธรรมสาร) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 64 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนภาษาไทย แบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมโดยใช้เทคนิค การสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ หลังการทดลองผู้วิจัยกำหนดขั้นตอนในการวิจัยเป็น 4 ดังนี้ ขั้นที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นที่ 2 การพัฒนาเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ขั้นที่ 3 การทดลองใช้เทคนิค การสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ และขั้นที่ 4 การปรับปรุงเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ระยะเวลาในการจัดกิจกรรม 20 ชั่วโมง
ผลการวิจัยพบว่า
ขั้นตอนที่ 1 จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองนักเรียนและครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ความต้องการของผู้ปกครองและครูในการเรียนวิชาภาษาไทยคือ ต้องการให้นักเรียนมีความสามารถในการเขียนในเชิงบวก โดยเขียนจากเรื่องราวต่างๆที่พบเห็นใน เชิงสร้างสรรค์
ขั้นตอนที่ 2 ผลการสร้างกิจกรรมตามเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า การกำหนด โครงร่างของกิจกรรมตามรูปแบบการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ จำนวน 20 กิจกรรม แต่ละกิจกรรมมีองค์ประกอบ 6 ประการ คือ สาระสำคัญ จุดมุ่งหมาย เวลาการจัดกิจกรรม เนื้อหา ขั้นตอนการจัดกิจกรรมตามเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ สื่อประกอบกิจกรรมและการวัดและประเมินผลกิจกรรม ผลการประเมินความเหมาะสมและความสอดคล้องของกิจกรรมโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า อยู่ในระดับดีมาก และผลการศึกษานำร่อง (Pilot Study) กิจกรรมตามเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อที่พัฒนาขึ้น พบว่า มีความชัดเจน เหมาะสมกับนักเรียนและเหมาะสมกับเวลา
ขั้นตอนที่ 3 ผลของการจัดกิจกรรมตามเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 และ6/2 โรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด(กวีธรรมสาร) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 64 คน ผู้วิจัยทำการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เพื่อจัดเป็นกลุ่มทดลอง (Experimental Group) และกลุ่มควบคุม (Control Group) กลุ่มละ 32 คน ทำการทดลอง 20 ครั้ง ใช้แบบแผนการทดลองแบบ Randomized Control Group Pretest Posttest Design ผลการทดลอง พบว่า กลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม มีความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01 และกลุ่มทดลองมีความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์หลังการทดลองสูงกว่าการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองและนักเรียนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมตามเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
ขั้นตอนที่ 4 ผลการประเมินและปรับปรุงกิจกรรมตามเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสื่อ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ผลจากทดลองใช้กิจกรรมตามเทคนิคการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ได้ข้อค้นพบที่จะสามารถนำไปปรับปรุงกิจกรรมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น คือ การใช้คำถามกระตุ้นของครูในการกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดและเขียนเชิงสร้างสรรค์จากเรื่องที่เห็นจากแหล่งเรียนรู้ การจัดกลุ่มผู้เรียนที่มีความหลากหลายเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้และทำงานร่วมกับเพื่อนทุกคนและการให้ข้อมูลย้อนกลับทางบวกเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน