ชื่อเรื่อง ผลการใช้เกมการศึกษาเพื่อพัฒนาความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์
ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 3
ผู้วิจัย นางพิมพ์ชนิสร สุดน้อย
โรงเรียนเทศบาลศรีเมืองพลประชานุเคราะห์
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแผนการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการศึกษาเพื่อพัฒนาความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 3 ศึกษาผลการใช้เกมการศึกษาในการพัฒนาความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์ และศึกษาความพึงพอใจของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 3 ที่มีต่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้เกมการศึกษา กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียน ชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนเทศบาลศรีเมืองพลประชานุเคราะห์ เทศบาลเมืองเมืองพล จังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน จำนวน 24 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการศึกษาเพื่อพัฒนาความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์ จำนวน 3 แผน 2) เกมการศึกษาเพื่อพัฒนาความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์ ด้านการจับคู่ ด้านการเปรียบเทียบ และด้านการเรียงลำดับ จำนวน 9 เกม 3) แบบทดสอบหลังการใช้แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการศึกษาเพื่อพัฒนาความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์ จำนวน 15 ข้อ แบ่งเป็นด้านละ 5 ข้อ ได้แก่ แบบทดสอบในด้านการจับคู่ การเปรียบ และการเรียงลำดับ 4) แบบสังเกตพฤติกรรมการเล่นเกมการศึกษาของนักเรียน และ 5) แบบประเมินความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยต่อการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการศึกษา มีค่าความเชื่อมั่น 0.75 การวิเคราะห์ข้อมูลคะแนนความพร้อมใช้การหาค่าร้อยละแล้วเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือร้อยละ 70.00 และนำเสนอในรูปตารางประกอบการบรรยาย การสังเกตพฤติกรรมการเล่นเกมการศึกษา วิเคราะห์โดยการนำคะแนนจากการสังเกตพฤติกรรมมาหาค่าเฉลี่ยและแปลความตามช่วงคะแนนที่กำหนดแล้วนำเสนอในรูปตารางประกอบการบรรยาย ความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยต่อการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการศึกษา วิเคราะห์โดยหาค่าเฉลี่ย
ผลการวิจัยพบว่า
1. ได้แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการศึกษาเพื่อพัฒนาความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์ในด้านการจับคู่ การเปรียบเทียบ และการจัดลำดับ สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 3 จำนวน 3 แผน และเกมการศึกษาเพื่อพัฒนาความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์ในด้านการจับคู่ การเปรียบเทียบ และการจัดลำดับ รวม จำนวน 9 เกม เป็นแผนการจัดประสบการณ์และเกมการศึกษาที่มีคุณภาพสามารถนำไปใช้กับนักเรียนชั้นอนุบาล 3 ได้อย่างเหมาะสม
2. ผลการใช้เกมการศึกษาเพื่อพัฒนาความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์
2.1 คะแนนความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์ ของเด็กปฐม ชั้นอนุบาล 3 ในด้าน การจับคู่ การเปรียบเทียบ และการจัดลำดับ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 93.33 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือร้อยละ 70.00
2.2 พฤติกรรมการเล่นเกมการศึกษาของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 3 ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านความสนใจและการมีส่วนร่วม ด้านการรู้จักการสังเกตและการแก้ปัญหา ด้านการมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น ด้านความสนุกสนานเพลิดเพลิน และด้านการเก็บเกมหลังเลิกเล่น มีพฤติกรรมอยู่ในระดับดีมากทุกด้าน
3. ความพึงพอใจของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 3 ต่อการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการศึกษา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( =2.80) เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็นพบว่า อยู่ในระดับมากทุกประเด็น ประเด็นที่ค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ นักเรียนชอบการเรียนที่ได้ลงปฏิบัติด้วยตนเอง ( = 2.93) ตัวอักษรและตัวเลขชัดเจน ( = 2.90) เนื้อหาที่เรียนมีความน่าสนใจ ( = 2.83) ประเด็นที่ค่าเฉลี่ยต่ำสุดได้แก่ นักเรียนชอบการนับจากการเล่นเกม ( = 2.70)