ชื่อเรื่อง การพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหา
เป็นฐาน วิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางรัตติญา รังเสนา
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง การพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน วิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) ศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน โดยกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมัธยมหนองเขียด ตำบลหนองเขียด อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 26 คน
ที่ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Samping) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 7 แผน 2) แบบประเมินพฤติกรรมในการทำงานกลุ่มและแบบประเมินการอภิปรายและนำเสนองาน 3) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 7 สถานการณ์ รวมทั้งหมด 28 ข้อ มีค่าความยากอยู่ระหว่าง 0.44-0.73 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.20 0.56 มีค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับเท่ากับ 0.75 และ 4) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ใช้แบบแผนการทดลอง แบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน (One Group Pretest - Posttest Design) วิเคราะห์ข้อมูลโดยเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้การทดสอบค่าที แบบสองกลุ่มไม่อิสระต่อกัน (Dependent sample t-test) วิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานโดยใช้ค่าเฉลี่ย (x̄ )และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
สรุปผลการวิจัย
การวิจัยในครั้งนี้ สามารถสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติ พบว่านักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์หลังการจัดการเรียนรู้
สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจในการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน อยู่ในระดับความพึงพอใจ มาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.48
จากการวิจัยครั้งนี้ทำให้นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานมีความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์สูงขึ้น นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ จากการค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเองผ่านกระบวนการกลุ่ม มีอิสระในการค้นคว้าหาคำตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติจริงและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้