ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School : LSS) โรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500)
ชื่อผู้ประเมิน : นางชมขวัญ ขุนวิเศษ
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2561
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School LSS) โรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินผลการดำเนินโครงการในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของการดำเนินโครงการ ความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ และความเหมาะสมของกิจกรรมในโครงการ 2) เพื่อประเมินความพร้อมด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับบุคลากรของสถานศึกษา งบประมาณ สถานที่และวัสดุอุปกรณ์ สื่อและแหล่งเรียนรู้ 3) เพื่อประเมินด้านกระบวนการของโครงการเกี่ยวกับการวางแผน การดำเนินงาน การนิเทศ ติดตาม และประเมินผล และการปรับปรุงแก้ไข 4) เพื่อประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการเกี่ยวกับประสิทธิผลการดำเนินโครงการ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน และความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่ ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) ในปีการศึกษา 2561 รวมทั้งสิ้น จำนวน 532 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 125 คน ประกอบด้วย 1) ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จำนวน 1 คน 2) ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน 3) ครู จำนวน 19 คน 4) ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 90 คน 5) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามความคิดเห็นด้านบริบทและด้านปัจจัยนำเข้า 2) แบบสอบถามความคิดเห็นด้านกระบวนการ 3) แบบสอบถามความคิดเห็นด้านผลผลิต : ประสิทธิผลการดำเนินงานโครงการ 4) แบบสอบถามความคิดเห็นด้านผลผลิต : คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน 5) แบบสอบถามความคิดเห็นด้านผลผลิต : ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการประเมินและข้อเสนอแนะ สรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมินพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นทุกตัวชี้วัดและภาพรวมของโครงการดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการในภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ ความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด รองลงมาคือ ด้านความเหมาะสมของกิจกรรมในโครงการ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ และความต้องการจำเป็นของโครงการ ตามลำดับ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมมากที่สุดและผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัด โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ สถานที่และวัสดุอุปกรณ์ รองลงมาคือ งบประมาณ บุคลากรของสถานศึกษา สื่อและแหล่งเรียนรู้ ตามลำดับ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัด โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการวางแผน รองลงมาคือ ด้านการปรับปรุงแก้ไข ด้านการดำเนินงาน และด้านนิเทศ ติดตาม และประเมินผล ตามลำดับ
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัด โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน รองลงมาคือ ด้านความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง และด้านประสิทธิผลการดำเนินโครงการ ตามลำดับ
ผลการประเมินโครงการในภาพรวม พบว่า โครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School LSS) โรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) อยู่ในระดับมากที่สุด
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากผู้ที่ให้ข้อมูล คือ ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นฐาน มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การจัดการศึกษาตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากส่งเสริมให้บุคคลมีความรู้ความคิด มีปัญญา มีวิธีคิดรู้จริง รู้แจ้ง รู้ตลอด รู้เท่าทันตามเหตุผลความเป็นจริง รู้จักคิดวิเคราะห์ บูรณาการองค์ความรู้ ค้นพบทางเลือกเพื่อประยุกต์สู่การปฏิบัติ เกิดทักษะนำไปสู่การดำรงชีวิตที่เหมาะสมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้บุคคลมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ ความเข้าใจในคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม มีเจตคติที่ดี มีทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผลเชิงคุณธรรม จริยธรรม มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดำรงชีวิตอยู่บนพื้นฐานความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจ มีวินัย มีความอดทน อดกลั้น อดออม มีความขยันหมั่นเพียร เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวมและส่งเสริมให้บุคคลมีความรู้ ความเข้าใจทักษะในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ พึ่งตนเองได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพของสังคม ยุคสมัย และศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งวิธีการที่จะดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน วางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยจัดการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพผู้เรียนตามลำดับความสามารถจากง่ายไปหายากตามระดับช่วงชั้น เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมและสมบูรณ์ทุกด้านตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School LSS) โรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) ต่อไป ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างจริงจัง มีการกำกับ ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
จากผลการประเมินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School : LSS) โรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) ทั้ง 4 ด้าน คือด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ผู้ประเมินได้จัดทำแนวทางการพัฒนาโดยการพิจารณาจากคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 10 คน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School : LSS) โรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) มีรายละเอียดดังนี้
1. ด้านบริบท
1.1 สถานศึกษาควรกำหนดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวปฏิบัติในวิถีปฏิบัติของทุกคนในสถานศึกษาเพื่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร
1.2 จัดกิจกรรมที่มีประโยชน์ครอบคลุมทุกด้าน สร้างความสมดุลให้ชีวิต สอดคล้องกับความต้องการของครูและนักเรียน เพื่อให้ร่วมกันปฏิบัติจนเกิดทักษะ ตระหนักในคุณค่าและยึดถือปฏิบัติจนเป็นนิสัย ด้วยความภาคภูมิใจ
1.3 การกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการต้องคำนึงถึงความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครอง
2. ด้านปัจจัยนำเข้า
2.1 กำหนดโครงสร้างงานที่ชัดเจน ระบุภารกิจ หน้าที่แก่คณะกรรมการบริหารโครงการ โดยร่วมกันจัดทำคู่มือการบริหารโครงการ
2.2 ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการ มีส่วนร่วมในการประสานงานกับชุมชน องค์กรและหน่วยงานอื่นๆเพื่อสร้างเครือข่าย ประชาสัมพันธ์ และขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ
2.3 ในการดำเนินโครงการต้องเตรียมสื่อและแหล่งเรียนรู้ให้ครอบคลุมการจัดกิจกรรมตามโครงการ โดยคำนึงถึงความหลากหลาย เพียงพอต่อสมาชิกผู้ร่วมโครงการ
3. ด้านกระบวนการ
3.1 ร่วมกันจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาโดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในหลักสูตร และการจัดกระบวนการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ รวมถึงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนส่งเสริมและกำกับติดตามให้นักเรียนนำกิจกรรมตามโครงการไปใช้ในชีวิตประจำวัน
3.2 คณะกรรมการบริหารโครงการต้องกำหนดปฏิทินปฏิบัติงาน มอบหมายผู้รับผิดชอบ นิเทศกำกับติดตาม โดยใช้เครื่องมือหลากหลาย และจัดทำรายงานผลการนิเทศเพื่อรายงานแก่ผู้เกี่ยวข้องทราบ
4. ด้านผลผลิต
4.1 เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินโครงการ ผู้บริหารต้องกำกับติดตามให้มีการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด ตามกำหนดเวลา กิจกรรมโครงการ ตามแผนปฏิบัติงานประจำปีอย่างสมบูรณ์ ครบถ้วน
4.2 ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ครูต้องยึดถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ในกิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนได้ปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัยที่ดีงาม
4.3 ในการจัดกิจกรรมสำหรับผู้เรียน มุ่งเน้นให้เกิดความตระหนักในหลักปฏิบัติการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง จัดกิจกรรมครบถ้วนตามกระบวนการ มีการประเมินผล แก้ปัญหาช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในทุกกิจกรรม