ชื่อเรื่อง : กลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โรงเรียนบ้านท่าแค
(วันครู 2500)
ชื่อผู้วิจัย : นางชมขวัญ ขุนวิเศษ
ปีที่วิจัย : ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการบริหารจัดการเพื่อ
ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) 2) เพื่อพัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) 3) เพื่อประเมินผลการใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) ดังนี้ 3.1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระหว่างปีการศึกษา 2559 กับปีการศึกษา 2560 3.2) ศึกษาความพึงพอใจของครูที่มีต่อกลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) 3.3) ศึกษาความพึงพอใจของกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีต่อกลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) 3.4) ศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อกลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) โดยกระบวนการวิจัยและพัฒนามี 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพและปัญหาการบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) ระยะที่ 2 การพัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) ระยะที่ 3 การทดลองใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) ระยะที่ 4 การประเมินผลการใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียน บ้านท่าแค (วันครู 2500)
ประชากร ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) ในปีการศึกษา 2560 รวมทั้งสิ้น จำนวน 600 คน กลุ่มตัวอย่างได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 132 คน ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน ครู จำนวน 18 คน นักเรียน จำนวน 29 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 70 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการศึกษาสภาพและปัญหาการบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) พบว่า สภาพโดยรวมด้านผู้บริหาร ด้านครู ด้านนักเรียน และด้านการมีส่วนร่วมของครอบครัว มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากและปัญหาโดยรวมอยู่ในระดับน้อย
2. การพัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียน บ้านท่าแค (วันครู 2500) ผู้วิจัยดำเนินการยก (ร่าง) กลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) จากการศึกษาสภาพและปัญหาการบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) และตรวจสอบ (ร่าง) กลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) โดยการสนทนากลุ่มของผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 13 คน ได้กลยุทธ์ที่มีความสมบูรณ์ 4 กลยุทธ์ ประกอบด้วย กลยุทธ์ที่ 1 เสริมสร้างภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา กลยุทธ์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครู กลยุทธ์ที่ 3 การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน และกลยุทธ์ที่ 4 การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างครอบครัวกับสถานศึกษา ซึ่งผลการประเมินกลยุทธ์ด้านความสมบูรณ์ในองค์ประกอบและคุณลักษณะที่ดี 3 ประการ คือ ความเหมาะสม ความสอดคล้อง และความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด
3. การประเมินผลการใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) โดยการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระหว่างปีการศึกษา 2559 กับ ปีการศึกษา 2560 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ในปีการศึกษา 2560 เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีการศึกษา 2559 และผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อกลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) พบว่า ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจต่อกลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) อยู่ในระดับมากที่สุด