ชื่องานวิจัย การวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ทักษะอาชีพด้วยวิถีพอเพียง
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบ้านบางไม้แก้วประชาสามัคคี
ผู้วิจัย นางกันยมาส ชูจีน
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ทักษะอาชีพด้วยวิถีพอเพียงสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบ้านบางไม้แก้วประชาสามัคคี (2) เพื่อประเมินความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ทักษะอาชีพด้วยวิถีพอเพียง (3) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ทักษะอาชีพด้วยวิถีพอเพียง และ (4) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ทักษะอาชีพด้วยวิถีพอเพียง
ผู้ให้ข้อมูลเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก นักเรียนจำนวน 9 คน ครูผู้สอนและวิทยากรทักษะอาชีพ จำนวน 7 คน โดยการอภิปรายกลุ่ม สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1, 2/1 และ 3/1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 90 คน ครูผู้สอนและวิทยากรทักษะอาชีพ จำนวน 7 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 90 คน เครื่องมือประกอบด้วย แนวคำถามสัมภาษณ์เชิงลึก แนวคำถามการอภิปรายกลุ่ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อน-หลังเรียน เพื่อวัดผลการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย แบบสอบถามมาตร-ประมาณค่า 5 ระดับเกี่ยวกับระดับการปฏิบัติและระดับความจริง เพื่อวัดผลการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัยและจิตพิสัย มีค่าความเที่ยง .925 และ .930 ตามลำดับ แบบสอบถามมาตรประมาณค่า 5 ระดับและปลายเปิดเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อรูปแบบ มีค่าความเที่ยง .933 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าเฉลี่ย ( )ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และ ค่า t-test
ผลการวิจัยพบว่า
(1) ผลการสร้างรูปแบบ ได้รูปแบบ (ฉบับร่าง) ประกอบด้วย 9 องค์ประกอบ คือ เงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขคุณธรรม หลักพอประมาณ หลักความมีเหตุผล หลักภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มิติวัตถุ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม และมิติวัฒนธรรม (2) ผลการประเมินความเหมาะสม และ ความเป็นไปได้ ได้ปรับปรุงรูปแบบ (ฉบับร่าง) ประกอบด้วย 9 องค์ประกอบ คือ ความรู้ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ทักษะอาชีพ คุณธรรมที่ต้องปลูกฝังในการเรียนรู้ทักษะอาชีพ การจัดการเรียนรู้ด้วย หลักพอประมาณ การจัดการเรียนรู้ด้วยหลักความมีเหตุผล การจัดการเรียนรู้ด้วยหลักภูมิคุ้มกัน ในตัวที่ดี การจัดการเรียนรู้ให้เกิดผลในมิติวัตถุ การจัดการเรียนรู้ให้เกิดผลในมิติสังคม การจัดการเรียนรู้ให้เกิดผลในมิติสิ่งแวดล้อม และการจัดการเรียนรู้ให้เกิดผลในมิติวัฒนธรรม และได้แนวทาง การนำรูปแบบไปใช้ 5 ขั้น ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 เตรียมการ ขั้นที่ 2 ประเมินก่อนการจัดการเรียนรู้ ขั้นที่ 3 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ขั้นที่ 4 การประเมินหลังการจัดการเรียนรู้ และขั้นที่ 5 การพัฒนาซ้ำ (3) ผลการพัฒนารูปแบบฉบับสมบูรณ์ ประกอบด้วย คำอธิบายรูปแบบ 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 แนวคิดหลักการของรูปแบบ ประกอบด้วย 9 องค์ประกอบ ส่วนที่ 2 วัตถุประสงค์ของรูปแบบ ส่วนที่ 3 บทบาทของผู้เกี่ยวข้องกับการนำรูปแบบไปใช้ และส่วนที่ 4 แนวทางการนำรูปแบบไปใช้ 5 ขั้น และ (4) ผลการใช้รูปแบบ ดังนี้ ผลการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจากการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผลการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัยและด้านจิตพิสัยโดยรวมอยู่ในระดับมาก และความพึงพอใจต่อรูปแบบโดยรวมอยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ การวิจัยและพัฒนารูปแบบ, การจัดการเรียนรู้ทักษะอาชีพ, วิถีพอเพียง