ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา
ชื่อผู้วิจัย นางสาวณัชปภา โลหะกิจ
ปีการศึกษา 2561
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 3 (หล่ายอิงราษฎร์บำรุง)
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษพฤติกรรมและความสามารถด้านทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียน และความคิดเห็นต่อการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 2) เพื่อออกแบบและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา และ 4) เพื่อประเมินผลรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยใช้วิธีดำเนินการวิจัยในลักษณะของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กลุ่มผู้ให้ข้อมูล/แหล่งข้อมูลมีดังนี้ 1) กลุ่มผู้ให้ข้อมูล/แหล่งข้อมูลในการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนเทศบาล 3 (หล่ายอิงราษฎร์บำรุง) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 รวมจำนวน 217 คน 2) กลุ่มผู้ให้ข้อมูล/แหล่งข้อมูลในพัฒนารูปแบบ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 (หล่ายอิงราษฎร์บำรุง) จำนวน 2 ห้องเรียน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 30 คน รวมจำนวน 37 คน 3) กลุ่มผู้ให้ข้อมูล/แหล่งข้อมูลในการทดลองใช้รูปแบบ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 (หล่ายอิงราษฎร์บำรุง) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 32 คน และ 4) กลุ่มผู้ให้ข้อมูล/แหล่งข้อมูลในการประเมินผลรูปแบบ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 (หล่ายอิงราษฎร์บำรุง) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมิน และแบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t (t-test) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษพฤติกรรมและความสามารถด้านทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียน และความคิดเห็นต่อการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร พบว่า นักเรียนมีพื้นฐานด้านการอ่านค่อนข้างต่ำ ไม่มีพื้นฐานการสะกดคำหรือสะกดคำผิด การจัดเรียงประโยคผิด เขียนคำในตำแหน่งผิด และนักเรียนส่วนใหญ่มีพื้นฐานความรู้ด้านภาษาอังกฤษแตกต่างกันและการได้รับการสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและความเอาใจใสจากผู้ปกครองแตกต่างกัน จึงทำให้นักเรียนส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนที่เก่งภาษาอังกฤษ สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ ได้ดี ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเรียนไม่ทันเพื่อน เรียนอ่อนไม่เข้าใจในบทเรียน ไม่กล้าแสดงออก และไม่กล้าสื่อสารภาษาอังกฤษ และรู้สึกอาย กลัวเพื่อนล้อเมื่อพูดภาษาอังกฤษ มีความคิดว่าตนเองไม่สามารถอ่านไม่ได้ พูดไม่ได้ เมื่อครูถาม จึงไม่กล้าตอบหรือกล้าพูด แต่ชอบเรียนผ่านเกม ผ่านเพลง และผ่านกิจกรรมมากกว่า สิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ คือ การจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และความรอบรู้ กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ควรสอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม บริบท และความเป็นจริง และควรจัดกิจกรรมที่หลากหลายทั้งกิจกรรมการฝึกทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน และควรเป็นกิจกรมที่ฝึกให้นักเรียนแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ จะนำไปสู่การใช้ภาษาที่ถูกต้อง คล่องแคล่ว และใช้ได้จริง ความคิดเห็นของนักเรียน คือ นักเรียนคิดว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญและจำเป็น จึงมีความต้องการพัฒนาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยมีข้อเสนอแนะ คือ มีความต้องการเรียนภาษาอังกฤษและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อยากพัฒนาทักษะการฟัง ทักษะการพูด ทักษะการอ่าน และทักษะการเขียน ให้สามารถพูดกับชาวต่างชาติได้ อยากให้ครูสอนภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้การเรียนการสอนสนุกมากยิ่งขึ้น และอยากให้พัฒนาภาษาอังกฤษในเรื่องของคำศัพท์ เพราะเป็นพื้นฐานในการเรียนระดับที่สูงต่อไป ด้านความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียน พบว่า การที่ลูกได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ดี จึงมีความต้องการให้ลูกได้พัฒนาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยมีข้อเสนอแนะ คือ อยากให้ลูกพูดและสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถอ่านออกและเขียนได้ ท่องคำศัพท์และสนทนาเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และอยากให้ครูพัฒนานักเรียนทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน รวมทั้งการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เพิ่มการอ่านและการสนทนาให้มากขึ้น
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา มีองค์ประกอบของรูปแบบ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ คือ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารอย่างเป็นระบบสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และกรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษของสภาพยุโรป (CEFR) 2018 2) จุดประสงค์ คือ ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้อย่างถูกต้องและคล่องแคล่วในสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ 3) กระบวนการจัดการเรียนการสอน 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 3.1) ขั้นเตรียมความพร้อม (Inputs) ได้แก่ การเตรียมผู้สอน ผู้เรียน แผนการจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ 3.2) ขั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (process) ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL 7 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเข้าสู่บทเรียน (New lead-in) ขั้นการใช้กิจกรรม (Activity for teaching) ขั้นสร้างความรู้ (Teaching method) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Participation) ขั้นจัดเก็บความรู้ (Abstract) ขั้นถ่ายโอนความรู้ (Practice) และขั้นประเมินผลและนำไปใช้ประโยชน์ (Application) 3.3) ขั้นวัดและประเมินผลการเรียนการสอน/ผลลัพธ์ (Output) ได้แก่ ด้านความรู้ (K) คือ ความรู้ด้านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ด้านทักษะกระบวนการ (P) คือ ทักษะและความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ (การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน) และด้านเจตคติ (A) คือ นักเรียนมีพฤติกรรมการเรียน การทำงานกลุ่ม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และเจตคติ/ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 3.4) ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) คือ ข้อมูลผลประเมิน ข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นของผู้เรียน และครูผู้สอนเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานและพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 4) เงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ ประกอบด้วย การจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนควรคำนึงถึงพื้นฐานความรู้และความแตกต่างของผู้เรียน และการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์ปัจจุบัน ผลการตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการทดลองใช้ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 83.33/81.88 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ คือ 80/80 สอดคล้องกับสมมติฐานที่กำหนดไว้
4. ผลการประเมินผลรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สอดคล้องกับสมมติฐานที่กำหนดไว้ นักเรียนมีทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (83.86%) สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนด้านความสามารถในการสื่อสาร (87.70%) พฤติกรรมการทำงานกลุ่ม (86.56%) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ (87.74%) ในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก และมีพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน (75.61%) อยู่ในระดับดี และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ NATPAPA MODEL เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด