ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model)
เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นางสาววิไลพร พงษ์พล
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนพรานวิบูลวิทยา
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป
กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/3 โรงเรียนพรานวิบูลวิทยา ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 32 คน
รูปแบบการวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ แยกออกเป็น 3 วงจรเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ คือ แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 18 แผน ใช้เวลาทั้งหมดจำนวน 18 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู แบบสังเกตการเรียนรู้ของนักเรียน แบบบันทึกหลังสอน และแบบทดสอบท้ายวงจร 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ จำนวน 30 ข้อ แบบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก รูปแบบการวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการวิจัย 3 วงจร ดังนี้ คือวงจรที่ 1 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 16 วงจรที่ 2 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 711 วงจรที่ 3 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 12 18 โดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สร้างขึ้น การเก็บรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยและผู้ช่วยผู้วิจัยได้ทำการบันทึกผลการปฏิบัติแล้วนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้มาสรุปหาข้อบกพร่องและแนวทางแก้ไข นำไปปรับปรุงแผนการปฏิบัติการในวงจรต่อไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ร้อยละของค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการอธิบายความ
ผลการวิจัยพบว่า
1. กิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีขั้นตอน 7 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นนำ/ทบทวนความรู้เดิม เป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียน โดยผู้วิจัยแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ และทบทวนความรู้ที่เคยเรียนมาซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้ใหม่ที่จะได้เรียน จากกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การสนทนาซักถาม เพลง เกม สถานการณ์ปัญหาหรือให้ผู้เรียนแสดงโครงความรู้เดิมของตน 2) ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่ นักเรียนแสวงหาความรู้จากสถานการณ์ปัญหาที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันและเหมาะกับวัยของผู้เรียนที่ครูจัดเตรียมไว้ให้ 3) ขั้นการศึกษาทำความเข้าใจความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม เป็นขั้นที่นักเรียนใช้ประสบการณ์ความรู้เดิมที่มีในขั้นนำเชื่อมโยงมายังความรู้ใหม่ ผู้วิจัยได้ใช้สถานการณ์ปัญหาเพื่อให้ผู้เรียนได้คิดด้วยตนเอง จากนั้นให้ผู้เรียนบันทึกข้อค้นพบเป็นของตนเอง 4) ขั้นแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในกลุ่มเป็นขั้นที่นักเรียน นำความรู้และวิธีการแก้ปัญหาของตนเองที่ได้จากกิจกรรม บันทึกผลรายบุคคลมานำเสนอต่อสมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มได้ช่วยกันตรวจสอบความรู้ความเข้าใจที่ผู้เรียนสร้างขึ้น รวมทั้งขยายความรู้ความเข้าใจของตนเองให้กว้างขึ้น เป็นการแบ่งปันความรู้ความเข้าใจของตนเองแก่ผู้อื่นและได้รับความรู้ความเข้าใจของผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน 5) ขั้นสรุปและจัดระเบียบความรู้ เป็นขั้นสรุปองค์ความรู้ทั้งหมดที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่ จัดสิ่งที่ได้รับจากการเรียนให้เป็นระบบระเบียบเพื่อง่ายต่อการจดจำ 6) ขั้นแสดง ผลงาน เป็นขั้นที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงผลงานการสร้างองค์ความรู้ของตนเองและของกลุ่มให้ผู้อื่นได้รับรู้ ผู้เรียนได้เรียนรู้ผลงานของผู้อื่นและปรับปรุงบันทึกความรู้ของตนเองให้ดีขึ้น 7) ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ เป็นขั้นที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกฝนนำความรู้ความเข้าใจของตนไปใช้กับสถานการณ์ที่หลากหลายแตกต่างกัน เพื่อเพิ่มความเข้าใจและฝึกให้เกิดความชำนาญ ความสามารถในการแก้ปัญหาและความจำในเรื่องนั้น ๆ โดยการทำแบบฝึกทักษะและใบกิจกรรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น พบว่านักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) สามารถสร้าง องค์ความรู้และตรวจสอบความรู้ได้ด้วยตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงความคิดเห็น สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน มีกระบวนการกลุ่ม มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 79.17 และมีนักเรียนจำนวน 26 คน คิดเป็นร้อยละ 81.25 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป