ชื่อผลงานวิชาการ การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนราชดำริ ปีการศึกษา 2561
ผู้ประเมิน นางอรอุมา บุญไตร
หน่วยงาน โรงเรียนราชดำริ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 2
ปี พ.ศ. 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนราชดำริ ปีการศึกษา 2561 ใน 4 ด้านด้วยกันคือ ความเหมาะสมของบริบท ความเหมาะสมของปัจจัยนำเข้า ความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงาน และผลผลิตของโครงการ 2 ประเด็น คือ คุณภาพนักเรียน และผลสำเร็จต่อสถานศึกษาและชุมชน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้บริหารและครู นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำแนกเป็น ผู้บริหารและครู 109 คนใช้วิธีสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) ใช้ประชากรเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด นักเรียน 317 คนสุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) และผู้ปกครองนักเรียน 317 คน ได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) โดยกำหนดให้เป็นผู้ปกครองนักเรียนที่ได้รับเลือกให้เป็นกลุ่มตัวอย่าง
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถามที่ผู้ประเมินสร้างขึ้น แบ่งเป็น 4 ชุด ข้อคำถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ประกอบด้วยชุดที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลความคิดเห็นที่มีต่อบริบทของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ชุดที่ 2 แบบสอบถามข้อมูลความคิดเห็นที่มีต่อปัจจัยนำเข้าของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ชุดที่ 3 แบบสอบถามข้อมูลความคิดเห็นที่มีต่อกระบวนการของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ชุดที่ 4 แบบสอบถามข้อมูลความคิดเห็นที่มีต่อผลผลิตของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ตอนที่ แบบสอบถามข้อมูลผลผลิต ในส่วนของคุณภาพของนักเรียน และตอนที่ 2 แบบสอบถามข้อมูลผลผลิต ในส่วนของผลสำเร็จต่อสถานศึกษาและชุมชน โดยมีค่าความเชื่อมั่นตั้งแต่ 0.92-0.99 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา พบว่า
1. บริบทของโครงการมีความเหมาะสม ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อมีการพิจารณารายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ รองลงมาคือความเป็นไปได้ของโครงการ และความพร้อมและทรัพยากรในการดำเนินงาน ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ นักเรียนมีปัญหาเรื่องการติดเกมหรือสื่อโซเชียลที่ไม่เหมาะสม รองลงมาคือ โครงการมีมีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครองและชุมชน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือนักเรียนมีการเล่นการพนันหรือติดการพนัน และนักเรียนมีสุขภาพจิตไม่ดี มีปัญหาด้านอารมณ์
2. ปัจจัยนำเข้าของโครงการมีความเหมาะสม ในภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยของผลการประเมินสูงที่สุดคือ ความพร้อมด้านบุคลากร รองลงมาคือ ความพร้อมด้านการบริหารจัดการอยู่ในระดับมากทั้งสองด้าน ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ความพร้อมด้านงบประมาณอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ผู้บริหารมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ผู้บริหารมีการพัฒนาตนเองและพัฒนางานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ผู้บริหารส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินงานระบบดูแล ช่วยเหลือนักเรียน และมีการจัดโครงสร้างและคณะกรรมการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ มีการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาคีเครือข่าย ผู้ปกครองหรือชุมชน
3. กระบวนการดำเนินงานตามโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมีการปฏิบัติอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ผลการประเมินในภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยของผลการประเมินสูงที่สุดคือ ด้านการบริหารจัดการระบบ และด้านการดำเนินงานตามระบบ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ด้านการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย อยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ครูทุกคนได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความเข้าใจระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การเสริมสร้างทักษะชีวิตและการคุ้มครองนักเรียน ผู้บริหารมีการพัฒนาตนเองและพัฒนางานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนได้รับการส่งเสริมสนับสนุน และได้รับขวัญกำลังใจจากการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูล และ วางแผนการส่งเสริม สนับสนุน ป้องกัน ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียน ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การเสริมสร้างทักษะชีวิต และคุ้มครองนักเรียน ภาคีเครือข่ายร่วมประเมิน /ชื่นชม ให้ขวัญกำลังใจ การดำเนินงานการดูแลช่วยเหลือนักเรียน นำผลการประเมินไปพัฒนางานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การเสริมสร้างทักษะชีวิต และการคุ้มครองนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และมีการปรับปรุง พัฒนา วิธีการและเครื่องมืออย่างเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของงาน โดยทั้ง 5 ข้อ อยู่ในระดับปานกลาง
4. ผลผลิตโครงการในด้านคุณภาพนักเรียน โรงเรียนราชดำริ เมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่าอยู่ในระดับมาก เมื่อเรียงลำดับคุณภาพของนักเรียนเป็นรายข้อพบว่า นักเรียนสามารถเดินทางไปกลับบ้านอย่างปลอดภัยมาก รองลงมาคือ นักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ๆ ส่วนข้อที่มีผลการประเมินน้อยที่สุดคือข้อ นักเรียนได้รับการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว
ในส่วนของผลสำเร็จต่อสถานศึกษาและชุมชน อันเป็นผลผลิตจากโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ นักเรียนทุกกลุ่มได้รับการดูแล ช่วยเหลือ ปกป้องคุ้มครอง แก้ไขและพัฒนาตามศักยภาพ รองลงมาคือนักเรียนมีทักษะชีวิตตามเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนด และนักเรียนมีทักษะชีวิต รู้เท่าทันภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในสังคมและสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดมีวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนการเสริมสร้างทักษะชีวิต และการคุ้มครองนักเรียน อย่างยั่งยืน