ชื่อเรื่อง การพัฒนาการอ่าน การคิดวิเคราะห์ การเขียนสื่อความ ของโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม
โดยการบริหารโครงการพัฒนาการอ่าน การคิดวิเคราะห์ การเขียนสื่อความ
ผู้ศึกษา นายสำเร็จ ไกรพันธ์
บทคัดย่อ
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาการดำเนินกิจกรรมการอ่าน การคิดวิเคราะห์ การเขียนสื่อความ ของนักเรียนโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม 2. ประเมินโครงการพัฒนาการอ่าน การคิดวิเคราะห์ การเขียนสื่อความ ทั้งด้านบริบท ปัจจัย กระบวนการดำเนินการและความก้าวหน้าการดำเนินการ และผลผลิต 3. พัฒนาพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม 4. พัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม 5. ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และทักษะกระบวนการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ ของนักเรียนโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม และ 6. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ครู และผู้ปกครองที่มีต่อโครงการพัฒนาทักษะกระบวนการ การอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ ของนักเรียนโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม ประชากรที่ใช้ศึกษาครั้งนี้ได้แก่ คณะครูผู้สอนโรงเรียนเรียนแม่ริมวิทยาคม ปีการศึกษา 2560-2561 จำนวน 68 คน นักเรียนโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม ปีการศึกษา 2560-2561 จำนวน 1,143 คน และ 1,256 คน ชุมชนคือ ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 1,143 และ 1,256 คน ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาครั้งนี้คือ ครูผู้สอนโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม ปีการศึกษา 2560- 2561 จำนวน 55 คน โดยสุ่มอย่างง่าย และนักเรียนโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม ปีการศึกษา 2560- 2561 จำนวน 350 คน และชุมชนคือผู้ปกครองของนักเรียน ปีการศึกษา 2560-2561 สุ่มเฉพาะเจาะจง เป็นผู้ปกครองของนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 350 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 6 คน คณะกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครู จำนวน 6 คน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง จำนวน 6 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือแบบประเมินกิจกรรมในโครงการ แบบประเมินโครงการ ประกอบด้วย แบบสอบถามประเมินด้านบริบท มีค่าความเชื่อมั่น 0.80 แบบสอบถามประเมินปัจจัยนำเข้า มีค่าความเชื่อมั่น 0.98 แบบสอบถามประเมินกระบวนการดำเนินงานและความก้าวหน้าของการดำเนินงาน มีค่าความเชื่อมั่น 0.97 แบบสอบถามประเมินผลผลิต ได้แก่แบบสอบถามพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน มีค่าความเชื่อมั่น 0.85 แบบสอบถามพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน มีค่าความเชื่อมั่น 0.90 แบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบบันทึกทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการเขียนสื่อความ แบบบันทึกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ แบบสอบถามประเมินความพึงพอใจต่อโครงการของนักเรียน ครู และผู้ปกครองมีค่าความเชื่อมั่น 0.89, 0.92 และ0.85 ตามลำดับ โดยวิเคราะห์หาค่า IOC วิเคราะห์ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบค่าที ( t-test ) ค่าร้อยละ แล้วแปลผลตามเกณฑ์
สรุปผลการศึกษา
1. การดำเนินกิจกรรม การอ่าน การคิดวิเคราะห์ การเขียนสื่อความ ได้ดำเนินการ 14 กิจกรรม ประกอบด้วยผลการดำเนินกิจกรรม 14 กิจกรรม ซึ่งมีผลการประเมินการดำเนินกิจกรรม มีค่าเฉลี่ย 4.14 อยู่ในระดับ มาก และมีการดำเนินการกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ เป็นกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และทุกระดับชั้นที่ใช้นวัตกรรมตั้งแต่การทำแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผล การทำวิจัยในชั้นเรียน
2. การประเมินโครงการพัฒนาพัฒนาการอ่าน การคิดวิเคราะห์ การเขียนสื่อความ มีดังนี้
ผลการประเมินด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อมโครงการพบว่า ความสอดคล้อง ความต้องการ ความคาดหวัง แสดงความเป็นไปได้ของโครงการ เฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.75
ผลการประเมินด้านปัจจัย มีค่าเฉลี่ยโดยรวมทุกด้านอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.53
ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน และความก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมในโครงการ มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุดคือ 4.55
ผลการประเมินผลผลิต มีดังนี้ พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูก่อนและหลังปีการศึกษา 2560 มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก คือ 4.11และ 4.44 ตามลำดับ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในปีการศึกษา 2561 มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด คือ 4.54 มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงขึ้น พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน ก่อนและหลังปีการศึกษา 2560 มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก คือ 4.01, 4.23 ตามลำดับ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในปีการศึกษา 2561 มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด คือ 4.54 มีแนวโน้ม อยู่ในระดับสูงขึ้น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มีค่าเฉลี่ยระดับ 3 ขึ้นไป ในปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา 2561 มีค่าร้อยละ 68.46 และ 72.96 ตามลำดับ ซึ่งมีความต่างของผลสัมฤทธิ์ ร้อยละ 4.78 มีแนวโน้มปีการศึกษา 2561 สูงกว่าปีการศึกษา 2560 ทุกระดับชั้น และผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ การศึกษาของโรงเรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ปีการศึกษา 2560 มีค่าเฉลี่ยระดับ 2 (ดี)ขึ้นไป ในปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา 2561 มีค่าร้อยละ 91.49, 97.53 ตามลำดับ มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงขึ้น และสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความของนักเรียน มีค่าเฉลี่ยระดับ 2 (ดี)ขึ้นไป ในปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา 2561 มีค่าร้อยละ 92.36, 95.31 ตามลำดับ มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงขึ้น และสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน
3. ความพึงพอใจต่อโครงการของนักเรียน ปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา 2561 มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก คือ 4.35, 4.46 ตามลำดับ ความพึงพอใจต่อโครงการของครู ปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา 2561 มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก คือ 4.39, 4.48 ตามลำดับ ความพึงพอใจต่อโครงการของผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา 2561 มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก คือ 4.18, 4.30 ตามลำดับ ปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา2561 ความพึงพอใจของ นักเรียน ครู และผู้ปกครอง มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01 สรุปว่านักเรียน ครู และผู้ปกครอง มีความพึงพอใจต่อโครงการพัฒนาการอ่าน การคิดวิเคราะห์ การเขียนสื่อความ ปีการศึกษา 2561 มากกว่าปีการศึกษา 2560