เรื่อง การพัฒนาระบบการบริหารจัดการตามแนวคิดการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริม
คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนโนนกอกวิทยา สังกัดองค์การบริหาร
ส่วนจังหวัดชัยภูมิ
ผู้วิจัย ประมวล คิดควร
หน่วยงาน โรงเรียนโนนกอกวิทยา อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2559 - 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาที่มีต่อการส่งเสริมคุณลักษณะ
อันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนโนนกอกวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ 2) เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการตามแนวคิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะ
อันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนโนนกอกวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้ระบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนโนนกอกวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิและ 4) เพื่อประเมินระบบการบริหารจัดการตามแนวคิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนโนนกอกวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยเป็นผู้บริหาร ครู นักเรียนและผู้ปกครอง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเป้าหมาย (ศึกษาสภาพและปัญหา)
คือผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน จำนวน 63 คน กลุ่มเป้าหมาย(พัฒนาระบบ) คือ รองผู้อำนวยการจำนวน 2 คน หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้จำนวน
8 คน หัวหน้างานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หัวหน้างานแนะแนว หัวหน้างานครูที่ปรึกษา หัวหน้าฝ่ายกิจการนักเรียน ตัวแทนผู้ปกครอง จำนวน 10 คน และตัวแทนนักเรียน(คณะกรรมการนักเรียน) จำนวน 13 คน รวมทั้งสิ้น 37 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ แบบสอบถามสภาพและปัญหาการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ คู่มือการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน แบบสอบถามการดำเนินกิจกรรม แบบสัมภาษณ์การดำเนินกิจกรรม แบบประเมินผลการดำเนินงาน
การบริหารจัดการตามแนวคิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน และแบบสังเกตคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโดยครูที่ปรึกษาและผู้ปกครองนักเรียน และแบบสอบถามวัดความพึงพอใจของผู้บริหาร ครู นักเรียนและผู้ปกครองที่มีต่อระบบการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่
ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามความคิดเห็นของ
ผู้บริหารและครูผู้สอน พบว่ามีสภาพการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์อยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาสภาพการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์เป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับปานกลาง
ทุกด้าน และปัญหาการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครูผู้สอน พบว่ามีปัญหาการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์อยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาปัญหาการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์เป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน
2. ผลการพัฒนาระบบการบริหารจัดการตามแนวคิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่ประกอบด้วย 3 ระบบย่อย ได้แก่ ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน(S) ระบบการจัดการเรียนการสอน(T)และระบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน(A) โดยนำทั้ง 3 ระบบบูรณาการเข้าไปในการบริหารจัดการ ดำเนินการในลักษณะการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ผลการประเมินตนเองของนักเรียน พบว่า คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 หลังการทดลองใช้คู่มือการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการหาค่าดัชนีประสิทธิผลจากผลการประเมินตนเองของนักเรียน พบว่า หลังการทดลองใช้คู่มือการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอังพึงประสงค์ของนักเรียน ค่าดัชนีประสิทธิผลโดยรวมเท่ากับ .7682 แสดงว่า นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์โดยรวมสูงกว่าก่อนทดลองเท่ากับ .7682 คิดเป็นร้อยละ 76.82 สอดคล้องกับการประเมินผลจากการนำข้อมูลของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยวิธีคัดกรองผู้เรียนและจำแนกพฤติกรรมผู้เรียน (SDQ) ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 พบว่า นักเรียนที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังจากได้รับการพัฒนาด้วยระบบการบริหารจัดการตามแนวคิดการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดีขึ้น มากที่สุดคือ มีวินัย คิดเป็นร้อยละ 89.65 รองลงมาคือ อยู่อย่างพอเพียง คิดเป็นร้อยละ 88.88 และมีจิตสาธารณะ คิดเป็นร้อยละ 87.50 และสอดคล้องกับผลการวัดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่พบว่าทั้งครูที่ปรึกษาและผู้ปกครองนักเรียนมีความเห็นว่า คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการดำเนินงานตามระบบการบริหารจัดการโดยนำระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระบบการจัดการเรียนการสอน และระบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มาใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมอบหมายภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน
โนนกอกวิทยาและผู้เกี่ยวข้องทุกคนมีส่วนร่วม มีผลการดำเนินการเมื่อผ่านการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมครบ 2 วงรอบแล้ว ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และการพิจาณาเป็นรายระบบ พบว่า ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและระบบการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนได้ดำเนินการอยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับส่วนระบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โรงเรียนดำเนินการอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียนและผู้ปกครองที่มี
ต่อระบบการบริหารจัดการตามแนวคิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนโนนกอกวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ พบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก