ผู้วิจัย นายตันติกร ขุนาพรม
ครูผู้สอนวิชาเคมี กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
สถานศึกษา โรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเจตคติต่อการเรียนวิชาสารและสมบัติของสาร ของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษาระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเจตคติต่อการเรียนวิชาสารและสมบัติของสาร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลังจากที่ได้รับการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษากับแบบปกติ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยในครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 2 ห้องเรียน 44 คน ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่าง แบบกลุ่ม (Cluster random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา เรื่อง ปฏิกิริยาเคมี จำนวน 7 แผน 2) แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี 3) แบบวัดเจตคติต่อการเรียนวิชาสารและสมบัติของสาร สถิติพื้นฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ Paired Samples t-test, และ Hotelling’s T2
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเจตคติต่อการเรียนวิชาสารและสมบัติของสาร หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเจตคติต่อการเรียนวิชาสารและสมบัติของสาร สูงกว่านักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
โดยสรุป นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติต่อการเรียนวิชาสารและสมบัติของสาร สูงกว่าการเรียนรู้แบบปกติ
ดังนั้น จึงควรสนับสนุนให้ครูผู้สอนได้นำแนวคิดสะเต็มศึกษาไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และวิชาที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษาต่อไป