ชื่อเรื่อง : การพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q ด้วยแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้ศึกษา : นายนรินทร์ มิระสิงห์
ปีที่พิมพ์ : 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q ด้วยแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อทดลองใช้แบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 4) เพื่อประเมินผลการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q ด้วยแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ดังนี้ 4.1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q ด้วยแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 4.2) เปรียบเทียบความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q ด้วยแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 4.3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q ด้วยแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยได้ดำเนินการตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ใช้แบบแผนการวิจัยแบบ One Group Pretest-Posttest Design เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นเนื้อหาสาระใน หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 การศึกษา 2561 จำนวน 41 คน โรงเรียนเทศบาล 2 สามัคคีวัฒนา กองการศึกษา เทศบาลเมืองยโสธร ซึ่งได้มาโดยใช้วิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Sampling Unit) เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์ครูผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนคณิตศาสตร์ แบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน เรื่อง การแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แบบวัดความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่ได้รับการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q ด้วยแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสถิติทดสอบที แบบไม่อิสระ (t-test แบบ Dependent Samples) และวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัย สรุปผลได้ดังนี้
1. ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่าหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ยึดหลักการและแนวคิดสำคัญคือ มีมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน (Standard based Curriculum) มาตรฐานการเรียนรู้เป็นกรอบและแนวทางในการสร้างหลักสูตร ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์นั้นจะต้องเตรียมความพร้อมของผู้เรียนทั้งในด้านจิตนิสัยและพื้นฐานทางการเรียนเพื่อเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ในเรื่องต่อ ๆ ไป สอดแทรกทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์เข้ากับการเรียนการสอนด้านเนื้อหาและมโนทัศน์ ด้วยการให้นักเรียนทำกิจกรรม หรือตั้งคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนคิด อธิบายและให้เหตุผล กระตุ้นให้นักเรียนใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลาย ส่วนสภาพที่เป็นจริงของการจัดการศึกษาสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ พบว่า ผลสัมฤทธิ์วิชาคณิตศาสตร์ต่ำ ซึ่งพบว่าปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือวิธีการสอนหรือวิธีจัดการเรียนรู้ ควรสอนให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ได้ ทั้งนี้การจัดการเรียนรู้สาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์มีความต้องการจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาความสามารถในการคิดขั้นสูง ผู้เรียนจะต้องรู้วิธีการเรียนรู้ คิดเป็น แก้ปัญหาเป็นอย่างสร้างสรรค์ มีความสามารถในการคิดอย่างมีคุณภาพและมีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่วนในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์นักเรียนมีปัญหาในเรื่องของการแก้โจทย์ปัญหา กล่าวคือ ไม่สามารถตีความ แยกแยะปัญหา วิเคราะห์ปัญหา ไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่โจทย์กำหนดให้กับสิ่งที่โจทย์ถาม ขาดทักษะการเชื่อมโยง ทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา อีกทั้งมีปัญหาในเรื่องความละเอียดรอบคอบ สาเหตุสำคัญคือ ธรรมชาติวิชาที่มีความเป็นนามธรรมสูง มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันในเนื้อหา และวิธีการสอนของครูที่ส่วนใหญ่เป็นการสอนแบบบรรยาย ทำให้นักเรียนไม่มีโอกาสไม่มีโอกาสได้ฝึกกระบวนการคิด นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียนในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งแบบแผนวิธีเรียนรู้ที่แตกต่างกันของนักเรียน ดังนั้นครูควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนเกิดมโนทัศน์เพราะการสร้างและการเรียนรู้มโนทัศน์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างพฤติกรรมด้านการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เมื่อผู้เรียนเกิดมโนทัศน์หรือเข้าใจมโนทัศน์แล้วจะสามารถนำไปใช้วิเคราะห์โจทย์ปัญหาได้
2. แบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4 ขั้นตอน 7 คำถาม (4 Steps 7 Question : 4S7Q) ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 (Step1 : S1) : การทำความเข้าใจปัญหา มีคำถามสำหรับนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ คือ คำถามที่ 1 (Question 1 : Q1) : โจทย์กำหนดอะไรมาให้ คำถามที่ 2 (Question 2 : Q2) : โจทย์ต้องการทราบอะไร คำถามที่ 3 (Question 3 : Q3) : มีข้อมูลที่ยังไม่รู้ที่ต้องหาเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้ามีคืออะไร ขั้นตอนที่ 2 (Step 2 : S2) : การแสดงแนวคิดในการแก้ปัญหา มีคำถามสำหรับนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ คือ คำถามที่ 4 (Question 4 : Q4) : จะหาคำตอบได้อย่างไร ขั้นตอนที่ 3 (Step 3 : S3) : การดำเนินการแก้ปัญหา มีคำถามสำหรับนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ คือ คำถามที่ 5 (Question 5 : Q5) : ประโยคสัญลักษณ์ คืออะไร หรือ แสดงวิธีแก้ปัญหาได้อย่างไร คำถามที่ 6 (Question 6 : Q6) : คำตอบ คืออะไร และขั้นตอนที่ 4 (Step 4 : S4) : การตรวจสอบคำตอบ มีคำถามสำหรับนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ คือ คำถามที่ 7 (Question 7 : Q7) : คำตอบที่ได้สมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะเหตุใด โดยที่ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 82.92 / 82.93 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q ด้วยแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า คะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ผลการเปรียบเทียบความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q ด้วยแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า คะแนนเฉลี่ยความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
5. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนการแก้โจทย์ปัญหา 4S7Q ด้วยแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่านักเรียนมีความพึงพอใจ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.58, S.D. = 0.59)