การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กปฐมวัย อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ครั้งนี้ ได้กำหนดขั้นตอนในการดำเนินการพัฒนาตามลำดับ ดังนี้
ขั้นที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน
1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นและแนวทางการพัฒนาหลักสูตรสำหรับเด็กปฐมวัย
2) สำรวจสภาพความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยโดยได้ดำเนินการแจกแบบสอบถามให้กับศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ผู้นำชุมชน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับท้องถิ่นและผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอเดิมบางนางบวช
ขั้นที่ 2 การสร้างหลักสูตร
1) กำหนดร่างหลักสูตรโดยอาศัยข้อมูลจากการรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม ซึ่งได้แก่ ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 จำนวน 10 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 40 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 40 คน ครูผู้สอน จำนวน 40 คน ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นอนุบาล จำนวน 80 คน ผู้นำชุมชน จำนวน 10 คน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับท้องถิ่น จำนวน 10 คน และผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอเดิมบางนางบวช จำนวน 10 คน รวมทั้งหมดจำนวน 230 คน
2) นำข้อมูลมาสังเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน กำหนดเป็นร่างหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กปฐมวัย อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ฉบับยกร่าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ ความต้องการของของชุมชนมาสร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพ ความต้องการที่แท้จริงของเด็กปฐมวัย ในอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยได้คัดเลือก 7 อันดับแรก และมีค่าร้อยละของความต้องการของศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ผู้นำชุมชน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับท้องถิ่น และผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอเดิมบางนางบวช ร้อยละ 70 ขึ้นไป จำนวน 7 เรื่อง ประกอบด้วย นิทานพื้นบ้านอำเภอเดิมบางนางบวช อุทยานบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ พระอาจารย์ธรรมโชติ ประเพณีตักบาตรเทโว วัดหัวเขา ประเพณีงานยกธงวันสงกรานต์ ผ้าทอมือของชาวลาวครั่งและหน่อไม้ไผ่ตงแกะสลัก
3) ศึกษาเอกสารและสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับท้องถิ่นของอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ นิทานพื้นบ้าน บุคคล สถานที่สำคัญ แหล่งท่องเที่ยว โบราณสถาน ขนบธรรมเนียม ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งคำขวัญของอำเภอเดิมบางนางบวช (พระอาจารย์ธรรมโชติลือนาม อุทยานงามบึงฉวาก ของฝากผ้าทอมือ เลื่องลืองานยกธง สลักไผ่ตงท่าช้าง เขานมนางเรื่องเล่า หัวเขาเทโวดัง) โดยเลือกเก็บข้อมูล ดังนี้
3.1) สถานที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านของอำเภอเดิมบางนางบวช ได้แก่ เสาต่อไก่ของตาสีนนท์ (บริเวณโรงเรียนวัดกำมะเชียร) เขากี่ (ปัจจุบัน คือ พระอุโบสถวัดกำมะเชียร) บึงฉวาก เขาชะโอยและวัดเขานางบวช เป็นต้น
3.2) อุทยานบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอำเภอเดิมบางนางบวช มีนักท่องเที่ยวทั้ง ชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษามาทัศนศึกษา ซึ่งภายในอุทยานบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติมีจุดให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวหลายจุดด้วยกัน เช่น สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำเค็ม บ่อจระเข้ สวนสัตว์ อุทยานผักพื้นบ้าน เป็นต้น
3.3) วัดเขานางบวชหรือวัดเขาขึ้น ตำบลนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นวัดของพระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นพระที่มีความสำคัญในศึกชาวบ้านบางระจัน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านเครื่องรางของขลัง ชาวบ้านบางระจันจึงนิมนต์ไปเป็นขวัญและกำลังใจในการสู้รบกับพม่า
3.4) บ้านหัวเขาและวัดหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประเพณีตักบาตรเทโวที่มีชื่อเสียง มีประชาชนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดมาร่วมงานเป็นจำนวนมากทุกปี
3.5) บ้านทุ่งก้านเหลือง ซึ่งอยู่ในตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีกลุ่มชน "ลาวคั่ง" "ลาวครั่ง" หรือ "ลาวกา" เป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษ จากหลวงพระบาง สันนิษฐานว่าอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยมีการร่วมกันอนุรักษ์และสืบสาน ผ้าทอลายโบราณ อันเป็นวัฒนธรรมของลาวซี - ลาวครั่ง
3.6) วัดหนองกระทุ่ม ตำบลหนองกระทุ่ม วัดบ่อกรุและวัดทุ่งกฐิน ตำบลบ่อกรุ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานยกธง เป็นประเพณีทำบุญยกธง วันสงกรานต์ของชาวไทยเชื้อสายลาวครั่ง โดยนำผ้าทอมาปักเป็นลวดลายต่าง ๆ นำของมงคลประดับลงในธงเพื่อทำให้เกิดความสิริมงคลและยังสร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้านที่ร่วมพิธีกรรมด้วย
3.7) ตลาดท่าช้าง ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีของฝากที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์ คือ การแกะสลักหน่อไม้ไผ่ตง โดยนำหน่อไม้ไผ่ตงมาแกะสลักให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ อย่างสวยงาม เช่น นก ผีเสื้อ ดอกไม้ ฯลฯ แล้วนำไปบรรจุขวด สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ผัด ต้ม แกง เป็นต้น
4) ดำเนินการเก็บข้อมูล 3 วิธี คือ
4.1) ศึกษาเอกสารเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา นิทานพื้นบ้าน สถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถาน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งคำขวัญของอำเภอ เดิมบางนางบวช
4.2) สัมภาษณ์ผู้รู้ในท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและชาวบ้านด้วยการสัมภาษณ์ พูดคุย เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีข้อมูลที่เป็นเอกสารจำนวนน้อย โดยกำหนดหัวข้อที่จะสัมภาษณ์ แล้วเข้าไปพูดคุย ซักถามและเจาะลึกในบางเรื่องแล้วจดบันทึกข้อมูลไว้
4.3) เข้าร่วมในสถานการณ์จริง เมื่อมีงานประเพณีประจำปีจะเข้าไปร่วมงาน สังเกต ถ่ายภาพ จดบันทึกขั้นตอนของพิธีการไว้ รวมทั้งเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ เข้าร่วมประเพณียกธงวันสงกรานต์ที่วัดบ่อกรุ เข้าร่วมงานประเพณีตักบาตรเทโว ที่วัดหัวเขา เข้าชมอุทยาน บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ ได้แก่ สวนสัตว์บึงฉวาก อุทยานผักพื้นบ้าน สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำและบ่อจระเข้ และเข้าชมวัดเขานางบวช เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านของอำเภอ เดิมบาง นางบวช เพื่อถ่ายภาพ ได้แก่ เสาต่อไก่ของตาสีนนท์ (บริเวณหน้าวัดกำมะเชียร) เขากี่ (ปัจจุบัน คือ พระอุโบสถวัดกำมะเชียร) หมู่บ้านกำมะเชียร บึงฉวาก เขาชะโอยและวัดเขานางบวช เดินทางไปยังหมู่บ้านทุ่งก้านเหลือง ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อขอชมผ้าทอมือลายโบราณและวิธีการทอผ้า และเดินทางไปยังตลาดท่าช้าง ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อขอชมวิธีการแกะสลักหน่อไม้ไผ่ตง
5) เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วได้นำมาจัดแบ่งเป็นเนื้อหาซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอำเภอ เดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนำเนื้อเรื่องทั้งหมดมายกร่างหลักสูตร ซึ่งมีโครงสร้างประกอบด้วย หลักการ จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง ระยะเวลาในการจัดประสบการณ์ แนวการจัดประสบการณ์และเอกสารประกอบและแบ่งเนื้อหาเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มเนื้อหาจัดอยู่ในกรอบเนื้อหาของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 โดยแบ่งกลุ่มเนื้อหาในหลักสูตรท้องถิ่น จำนวน 9 หน่วยประสบการณ์ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 บุคคลสำคัญและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย 2 หน่วยประสบการณ์ คือ หน่วยบ้านฉันที่นั่นเดิมบางและหน่วยคนดีศรีเดิมบาง กลุ่มที่ 2 สถานที่ท่องเที่ยว ประกอบด้วย 3 หน่วยประสบการณ์ คือ หน่วย เที่ยวสุขสันต์มหัศจรรย์บึงฉวาก หน่วยตื่นตามัจฉาน่าชมและหน่วยผักพื้นบ้านรับประทานแล้วแข็งแรง กลุ่มที่ 3 ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 หน่วยประสบการณ์ คือ หน่วยสุขใจเมื่อได้ตักบาตรและหน่วยยกธงวันสงกรานต์ และกลุ่มที่ 4 ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบด้วย 2 หน่วยประสบการณ์ คือ หน่วยผ้าทอมือสื่อวัฒนธรรมและหน่วยของฝากจากตลาดท่าช้าง
6) ดำเนินการเขียนแผนการจัดประสบการณ์ โดยมีรายละเอียด ประกอบด้วย สาระสำคัญ จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ (ประกอบด้วย ประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรเรียนรู้) กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อ/แหล่งการเรียนรู้และการประเมินพัฒนาการ ซึ่งมีทั้งหมด จำนวน 9 หน่วยประสบการณ์
7) จัดทำหนังสือภาพ ชุด ถิ่นฐานบ้านเดิมบาง เพื่อใช้ประกอบการจัดประสบการณ์ ในช่วงกิจกรรมเสริมประสบการณ์และนำไปไว้ในมุมหนังสือ จำนวน 9 เล่ม ได้แก่ เล่มที่ 1 เรื่อง ตำนานบ้านเดิมบาง เล่มที่ 2 เรื่อง เดินทางสู่บึงฉวาก เล่มที่ 3 เรื่อง ปลาหลายหลากน่าเรียนรู้ เล่มที่ 4 เรื่อง แวะดูผักพื้นบ้าน เล่มที่ 5 เรื่อง นมัสการพระอาจารย์ธรรมโชติ เล่มที่ 6 เรื่อง รุ่งโรจน์ประเพณี ที่หัวเขา เล่มที่ 7 เรื่อง ทุ่งก้านเหลืองนั้นเล่าเขาทอผ้า เล่มที่ 8 เรื่อง สนุกนักหนางานยกธง และเล่มที่ 9 เรื่อง สลักไผ่ตงตลาดท่าช้าง
8) จัดทำเกมการศึกษาเพื่อใช้เป็นสื่อในการจัดกิจกรรม ช่วงกิจกรรมเกมการศึกษา จำนวน 45 เกม ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ เกมภาพตัดต่อ เกมจับคู่ภาพ เกมเรียงลำดับภาพ เกมต่อภาพ (โดมิโน) เกมจัดหมวดหมู่ภาพ เกมสังเกตรายละเอียดภาพ (Lotto) เกมการจับคู่แบบตารางสัมพันธ์ เกมพื้นฐานการบวกและเกมการหาความสัมพันธ์
ขั้นที่ 3 การประเมินหลักสูตร
1) นำร่างหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กปฐมวัย อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ทำการพิจารณาตรวจสอบร่างหลักสูตรเพื่อประเมินความเหมาะสมของร่างหลักสูตรก่อนที่จะนำไปใช้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเนื้อหา ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาในท้องถิ่น กลุ่มที่ 2 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาหลักสูตร ตรวจสอบความถูกต้องของหลักสูตร และ
กลุ่มที่ 3 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านครูผู้สอน ตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมในฐานะที่เป็นครูผู้ใช้หลักสูตร
2) เมื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง 3 กลุ่ม ได้ประเมินผลและให้ข้อเสนอแนะแล้วได้นำร่างหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กปฐมวัย อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มาปรับปรุงแก้ไข
ขั้นที่ 4 การทดลองใช้และปรับปรุงหลักสูตร
1) นำหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กปฐมวัย อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ไปทดลองใช้กับเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลชั้นปีที่ 2/1 ของโรงเรียนอนุบาลเดิมบางนางบวช (วัดท่าช้าง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 35 คน ใช้ระยะเวลาทดลอง 9 สัปดาห์ ๆ ละ 5 วัน
2) ดำเนินการตามแนวทางการจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กปฐมวัย อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ บนความเชื่อที่ว่าเด็กจะเกิดการเรียนรู้เมื่อได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจึงยึดหลักการเรียนรู้แบบบูรณาการผ่านกิจกรรมการเล่น กิจกรรมประจำวันและกิจวัตรประจำวันที่เด็ก ๆ ปฏิบัติทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้เคลื่อนไหว ได้สำรวจ เล่น สังเกต ทดลอง ลงมือปฏิบัติและคิดแก้ปัญหา เด็ก ๆ จะได้ทำงานตามลำพัง ทำงานเป็นกลุ่ม ได้เรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น โดยใช้สื่อ/แหล่งเรียนรู้ที่มีความหลากหลายในบรรยากาศที่อบอุ่น มีการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม มารยาทไทย ที่ดีงามเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีของเด็กไทยและเพื่อให้เด็ก ๆ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข โดยผ่านการจัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำวัน ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546
3) ในส่วนหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กปฐมวัย อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ที่พัฒนาขึ้นนี้ ซึ่งมีแผนการจัดประสบการณ์ ทั้ง 9 หน่วยประสบการณ์ ได้กำหนดส่วนที่สาระ ที่ควรเรียนรู้ไว้ 3 กลุ่มเนื้อหา ได้แก่ เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก ธรรมชาติรอบตัวและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก แต่ละกลุ่มเนื้อหาอยู่ในกรอบของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 แต่ละหน่วย การจัดประสบการณ์จะมีแนวคิดที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็กปฐมวัยหลังจากจัดกิจกรรมแล้ว รวมทั้งการจัดกิจกรรมที่สอดคล้อง ตอบสนองต่อการเรียนรู้ของเด็ก ให้เป็นไปตามเนื้อหา ทั้งในส่วนที่เป็นประสบการณ์สำคัญที่เด็กทุกคนควรได้รับและส่วนที่เป็นเนื้อหาและแนวคิด
4) การประเมินพัฒนาการ กำหนดให้ใช้วิธีประเมิน ดังนี้
(4.1) การสังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นรายบุคคลขณะทำกิจกรรมในแต่ละวัน ทั้งระหว่างการทำงานรายบุคคลและการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือการร่วมกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากนี้ยังใช้ การสนทนา การสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลจากผลงานเด็กที่เก็บอย่างมีระเบียบ
(4.2) สภาพการประเมินมีลักษณะเช่นเดียวกับการปฏิบัติกิจกรรมประจำวัน
(4.3) ประเมินอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน เลือกใช้เครื่องมือและจดบันทึก เป็นหลักฐาน
(4.4) ประเมินตามสภาพจริงด้วยวิธีการที่หลากหลายเหมาะสมกับเด็ก รวมทั้ง ใช้แหล่งข้อมูลหลายด้าน
ทั้งนี้การจัดกิจกรรมในแต่ละวันที่เสนอไว้สามารถปรับและยืดหยุ่นได้ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ โดยยึดหลักการจัดให้มีความสมดุล คือ มีทั้งกิจกรรมภายในห้องเรียนและกิจกรรม นอกห้องเรียน กิจกรรมเป็นรายบุคคล กิจกรรมที่สงบ กิจกรรมที่เคลื่อนไหว กิจกรรมที่เด็กเป็นผู้ริเริ่ม เด็กและครูร่วมกันคิดและครูเป็นผู้ริเริ่ม ทั้งนี้ควรจัดให้ครอบคลุมกิจกรรมประจำวัน
5) ทำการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นของเด็กปฐมวัย รวมทั้งการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นของเด็กปฐมวัย ในระหว่างการจัดประสบการณ์
6) นำผลที่ได้ไปปรับปรุงร่างหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กปฐมวัย อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกผลและประเมินผลจากการจัดกิจกรรมตามหลักสูตรของครูผู้สอนมาทำการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะในด้านสภาพ ความจำเป็น ระยะเวลา กิจกรรม เนื้อหาสาระต่าง ๆ และประโยชน์ที่ได้ เพื่อนำไปใช้ได้ตรงตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรยิ่งขึ้น
ขั้นที่ 5 การนำหลักสูตรไปใช้และสรุปผล
1) นำหลักสูตรส่วนที่เป็นแผนการจัดประสบการณ์ จำนวน 9 หน่วย จาก 4 กลุ่มเนื้อหา หน่วยละ 5 แผน รวมทั้งหมด 45 แผน ไปใช้จริงกับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 ของโรงเรียนอนุบาลเดิมบางนางบวช (วัดท่าช้าง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 35 คน ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เป็นเวลา 9 สัปดาห์ ๆ ละ 5 วัน พร้อมกับทำการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นของเด็กปฐมวัย ในระหว่างการจัดประสบการณ์
2) นำผลจากการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นของเด็กปฐมวัย รวมทั้งการสังเกตพฤติกรรมระหว่างการจัดประสบการณ์ มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสรุปผลการใช้หลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กปฐมวัย อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
3. สรุป ประโยชน์ที่ได้รับจากผลงาน เรื่องที่ได้เรียนรู้และข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาในอนาคต
รวมทั้งข้อเสนอแนะ
3.1 สรุป
1) มีหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กปฐมวัย อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ท้องถิ่นและความสนใจของเด็ก
2) เด็กปฐมวัยเกิดการเรียนรู้ มีความเข้าใจถึงวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาและแหล่ง
เรียนรู้ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก รวมทั้งมีพัฒนาการครบทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา