ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของ
โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก)
ผู้วิจัย ทองมัน สิทธิกัน
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) 2) พัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) 3) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) 4) ประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะทำงาน นักเรียน และผู้ปกครองที่มีต่อการการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก)
กระบวนการวิจัยมี 4 ขั้นตอน คือ 1. ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) โดยดำเนินการระดมความคิด (Brain storming) ร่วมกับคณะครูโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) จำนวน 59 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) จำนวน 15 คน และดำเนินการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน 2. สร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก)ประกอบ ด้วย 1) การยกร่างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) จากผลการระดมความคิดและผลการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 2) การตรวจสอบความตรงและความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น ของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก)โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน 3. ทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) ประกอบด้วยรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ จำนวน 1 คน และคณะทำงานผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียน จำนวน 19 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 20 คน ในปี 2560 และ 4. ประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) รวมทั้งสิ้น 444 คน
ผลการศึกษาพบว่า
สภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการในการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) พบว่า เกิดจากปัญหาหลายๆ ด้าน ดังต่อไปนี้
1) ด้านบริหารจัดการสถานศึกษา พบว่า ครูไม่เข้าใจหลักสูตรที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ตอบสนองความต้องการและความสามารถของนักเรียน ทั้งการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลภายในโรงเรียนไม่สม่ำเสมอขาดการส่งเสริมการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั้งภายใน และภายนอกสถานศึกษา 2) ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน พบว่า กระบวนการเรียนรู้ไม่ตอบสนองต่อเป้าหมายของหลักสูตร ขาดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การใช้สื่อประกอบการเรียนการสอน การผลิตสื่อ
ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 3) ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน พบว่า หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนยังไม่ส่งเสริมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงการมีส่วนร่วมระหว่าง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนยังมีน้อย การแนะแนวและระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น
ครูยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการแนะแนวและระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล มีการดูแล
ไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ 4) ด้านการพัฒนาบุคลากร พบว่า ครูใช้วิธีการสอนแบบเดิมๆไม่ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงขาดความรู้ความเข้าใจในรูปแบบการจัดกิจกรรม/โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในโรงเรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) พบว่า มีความตรงและมีความเหมาะสมมากสำหรับนำไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผลผลิต (Outputs) ที่คาดหวังของการดำเนินงาน จากการนำรูปแบบบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นที่ได้จากการวิจัยในครั้งนี้ไปใช้คือ มีการจัดการศึกษาของสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นในด้านบริหารจัดการสถานศึกษา ด้านหลักสูตรและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ด้านการพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา ด้านผลลัพธ์/ภาพความสำเร็จ และผลลัพธ์ (Outcomes) ที่คาดหวังของการดำเนินการคือ มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีการกำหนดนโยบาย พัฒนาบุคลากรและจัดระบบการนิเทศภายในให้สามารถจัดกระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการส่งเสริมและพัฒนาครูให้มีความรู้ มีการจัดกระบวนการเรียนรู้สู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอน ครูมีการพัฒนาสื่อ นวัตกรรมทางการศึกษา โรงเรียนมีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ผู้ปกครองและชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมติดตามประเมินผลการดำเนินงานส่งผลให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจ
ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) ในภาพรวม พบว่า ผลการปฏิบัติงานตามรูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น 5 ด้านในภาพรวม ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านการบริหารสถานศึกษา รองลงมาคือด้านผลลัพธ์/ภาพความสำเร็จ เมื่อจำแนกตามด้าน พบว่า 1) ด้านการบริหารสถานศึกษา เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของรายด้าน องค์ประกอบทุกด้านเท่ากันทุกองค์ประกอบ คือ นโยบาย วิชาการ และการบริหารทั่วไป 2) ด้านหลักสูตรและการจัดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของรายด้าน พบว่า องค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รองลงมา คือ หน่วยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สื่อและแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ การวัดและประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3) ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของรายด้าน พบว่า องค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ กิจกรรมนักเรียนและ กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ รองลงมา คือ การแนะแนวและการดูแลช่วยเหลือผู้เรียน 4) ด้านการพัฒนาบุคลากรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของรายด้าน พบว่า องค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การติดตามและขยายผล รองลงมา คือ การพัฒนาบุคลากรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 5) ด้านผลลัพธ์ / ภาพความสำเร็จ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของรายด้าน พบว่า องค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ สถานศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น และบุคลากรของสถานศึกษา รองลงมา คือ ผู้เรียน
ความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะทำงาน นักเรียน และผู้ปกครองโดยภาพรวมที่มีต่อรูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น พบว่า คณะ กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนคณะทำงาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1. ควรมีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น
2. ควรมีการระดม จัดสรรทรัพยากรการบริหารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการ/กิจกรรมต่างๆ เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
3. ควรส่งเสริมให้ครูมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการผลิตสื่อการสอน การเลือกใช้สื่อการเรียนรู้
ที่มีในท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอน
4. ควรสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงให้บุคลากรครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง นักเรียน บุคลากรฝ่ายสนับสนุนการสอน และวิทยากรท้องถิ่นให้เข้าใจก่อนการใช้หลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง
5. ควรพัฒนาหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและบริบทของ ท้องถิ่น
6. ควรเผยแพร่ผลการประเมินหลักสูตรให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา และปรับปรุงหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงต่อไปในอนาคต
7. ควรให้มีการติดตามผลการดำเนินงานเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
จากผลการวิจัยในครั้งนี้ มีประเด็นที่ควรจะศึกษาค้นคว้าวิจัยครั้งต่อไป ดังนี้
1. การศึกษาในครั้งต่อไปควรศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. การศึกษาในครั้งต่อไปควรศึกษาแนวทางการพัฒนารูปแบบการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำไปใช้ให้เกิด ประสิทธิภาพต่อการบริหารจัดการในสถานศึกษา
3. การศึกษาในครั้งต่อไปควรศึกษาการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่บริบทสังคมพหุวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้