ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์แบบสะเต็มศึกษาเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเมืองพัทยา 6 (วัดธรรมสามัคคี)
ชื่อผู้วิจัย นางจีระนันท์ ศิริเลิศ
ปรึกษา นางเนาวรัชต์ แก่นทน
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ 2) เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดประสบการณ์โดยใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์แบบสะเต็มศึกษาเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3
การดำเนินการวิจัยเป็นแบบวิจัยและพัฒนา 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ ขั้นที่ 2 สร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์ ขั้นที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ และขั้นที่ 4 ศึกษาความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยที่มีต่อการเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเมืองพัทยา 6 (วัดธรรมสามัคคี) สำนักการศึกษา เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 38 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ทำการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ใช้เวลาในการทดลองรวมทั้งสิ้น 15 สัปดาห์ โดยใช้แบบแผนการวิจัย One-Group Pretest-Posttest Design ทำการเก็บข้อมูลด้วยแบบประเมินด้านสติปัญญาสำหรับเด็กปฐมวัย และแบบสังเกตพฤติกรรมพัฒนาการสติปัญญาสำหรับเด็กปฐมวัย แล้ววิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติทดสอบที่ (t-test แบบ dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านเห็นความสำคัญของการพัฒนาด้านสติปัญญาในเด็กปฐมวัย เพราะเป็นวัยที่มีความสำคัญในการพัฒนาสมอง เป็นระยะที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาในทุกด้าน ครูควรเน้นพัฒนาด้านสติปัญญาด้วยการสอนเด็กให้ทดลอง ฝึกปฏิบัติจริง พัฒนาสติปัญญาในเด็กปฐมวัย ควรมีการใช้วิธีการที่หลากหลาย จัดประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม การสร้างกิจกรรมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ สอนแบบธรรมชาติ ใช้ประสบการณ์จริง สถานการณ์จริงให้เด็กมีโอกาสฟัง เดิน สัมผัส ทดลอง เน้นการลงมือกระทำ ฝึกในเรื่องของชีวิตประจำวันและโยงให้เข้ากับพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ครูต้องการพัฒนา
2. รูปแบบการจัดประสบการณ์ที่พัฒนาขึ้น คือ รูปแบบการจัดประสบการณ์แบบสะเต็มศึกษาเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ สาระ กระบวนการจัดประสบการณ์ และการประเมินผล โดยกระบวนการจัดประสบการณ์ มี 4 ขั้นตอน ตามกระบวนการของสะเต็ม STEM คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ นำไปใช้ เมื่อนำไปใช้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคุณภาพ พบว่า โดยภาพรวมรูปแบบการจัดประสบการณ์ มีความเหมาะสมในระดับมาก คู่มือการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด และเมื่อนำไปทดลองนำร่อง พบว่า รูปแบบการจัดประสบการณ์ที่สร้างขึ้นมีความเหมาะสม สามารถนำไปใช้ทดลองได้
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ พบว่า พัฒนาการด้านสติปัญญาหลังการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ที่พัฒนาขึ้นสูงกว่าก่อนจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. เด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 3 ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการจัดประสบการณ์ตามรูปแบบการจัดประสบการณ์ที่พัฒนาขึ้น เด็กอยากเรียนรู้และมีความสนใจในกิจกรรมที่ครูจัดให้เด็กได้ร่วมกิจกรรมกับครู โดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย สนองตอบความต้องการของตนเอง และยังส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญากับเด็กปฐมวัย