ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสีคิ้ว สวัสดิ์ผดุงวิทยา
ผู้วิจัย โชติกา ศรีขันธ์
หน่วยงาน โรงเรียนสีคิ้ว สวัสดิ์ผดุงวิทยา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การพัฒนาชุดการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในการวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายของการวิจัย (1) เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสีคิ้ว สวัสดิ์ผดุงวิทยา ให้เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสีคิ้ว สวัสดิ์ผดุงวิทยา ระหว่างก่อนและหลังเรียนด้วย
ชุดการเรียน (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการเรียนด้วยชุดการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง ตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนสีคิ้ว สวัสดิ์ผดุงวิทยา อำเภอเมืองสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จำนวน 1 ห้องเรียน นักเรียนจำนวน 41 คน คือ ห้อง ม.1/5 โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม ทั้งนี้เนื่องจากห้องเรียนแต่ละห้องมีนักเรียนที่มีความสามารถทางการเรียนเก่ง ปานกลาง อ่อน ใกล้เคียงกัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 3 ชนิด ได้แก่ ชุดการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 6 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 ฉบับ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ 0.29 ถึง 0.90 มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.80 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องเลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 1 ฉบับ 15 ข้อ ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ด้านเนื้อหา ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านสื่อการเรียนการสอน และด้านการวัดและประเมินผล มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (rxy) ตั้งแต่ 0.68 ถึง 0.90 และ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1. ชุดการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.91/86.18 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 1 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการเรียนด้วยชุดการเรียน
วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง โดยรวมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.21 หมายความว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยชุดการเรียนอยู่ในระดับมาก
โดยสรุป การเรียนชุดการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้นนี้ มีประสิทธิภาพสามารถนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม ช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้น และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยชุดการเรียน สมควรสนับสนุนให้ครูผู้สอนนำไปใช้เพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพต่อไป