ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะการคิดและทักษะทางภาษาของเด็กปฐมวัยโดยการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach)
การปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
ระดับชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนบ้านร่มเกล้า ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลกเขต 3
ผู้วิจัย นางสาวขวัญใจ อินปา
ตำแหน่ง ครู คศ.1 โรงเรียนบ้านร่มเกล้า จังหวัดพิษณุโลก
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
1.1 ความเป็นมาและสภาพปัญหา
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ว่าด้วยจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย สำหรับเด็กอายุ 3 - 6 ปี มุ่งให้เด็กมีทักษะการคิด การใช้ภาษาสื่อสาร และการแสวงหาความรู้ได้เหมาะสมกับวัยและมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มาตรฐานที่ 9 ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย ช่วงอายุ 5 6 ปี ตัวบ่งชี้ที่ 9.1.1 ฟังผู้อื่นพูดจนจบและสนทนาโต้ตอบอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับเรื่องราวที่ฟัง และตัวบ่งชี้ที่ 9.1.2 เล่าเรื่องราวต่อเนื่องได้ และมาตรฐานที่ 10 มีความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ 10.1 มีความสามารถในการคิดรวบยอด 10.2 มีความสามรถในการคิดเชิงเหตุผล และ 10.3 มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ ผลจากการประเมินทักษะการใช้ภาษาสื่อสารและทักษะการคิดของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนบ้าน
ร่มเกล้า จำนวน 45 คน ในกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม กิจกรรมเคลื่อนไหว กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง และกิจกรรมเกมการศึกษา เด็กมีพัฒนาด้านการสื่อสารที่แตกต่างกัน เด็กบางคนไม่กล้าพูด ไม่มีความมั่นใจในการพูด พูดไม่ถูกต้อง พูดไม่คล่อง พูดสื่อความหมายไม่ได้ และคิดแตกต่างจากที่ครูพูดไม่ได้ คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ไม่ได้ เนื่องจากเด็กไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร และไม่มีกระบวนการคิดที่ถูกต้อง และผู้ปกครองไม่มีความรู้เรื่องการใช้ภาษาไทย จึงส่งผลทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
1.2 แนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนา
จากเหตุผลดังที่ได้กล่าวมา ข้าพเจ้าจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาทักษะการคิดและทักษะทางด้านภาษาของเด็ก โดยการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach) เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารด้านการพูด และทักษะการคิด ให้เด็กมีความกล้าในการพูด การแสดงความคิดเห็น เลือกใช้คำศัพท์ที่ถูกต้องกับสถานการณ์ การใช้ภาษาไทยถูกต้องที่เหมาะสมกับวัยและมีทักษะกระบวนการคิดที่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสถานศึกษาคือการพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถทางด้านการใช้ภาษาไทยที่เหมาะสมกับวัย ตอบสนองความต้องการของชุมชน ผู้ปกครอง คืออยากให้นักเรียนพูดภาษาไทยได้ เนื่องจากนักเรียนพูดแต่ภาษาชนเผ่า คือ ภาษาม้ง เมื่อเด็กพูดภาษาไทยได้ก็สามารถนำมาเผยแพร่แก่บุคคลในชุมชนได้
วัตถุประสงค์
2.1.1 เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านภาษาและทักษะการคิดของเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 3
จำนวน 45 คน โดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach)
2.1.2 เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจในการพูด กล้าแสดงความคิดเห็น พูดได้ชัดเจนและถูกต้อง
2.1.3 เพื่อให้เด็กพูดภาษาไทยได้ถูกต้องเหมาะสมกับวัย สนองนโยบายของสถานศึกษา
และความต้องการของชุมชน ผู้ปกครอง ในการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้กับชุมชน
2.1.4 เพื่อให้เด็กสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ และมีกระบวนการคิดที่ถูกต้อง สามารถคิดสร้างสรรค์ผลงานของตนเองได้
ผลการปฏิบัติงาน
ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงดังนี้
1. เด็กปฐมวัย จากการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะทางด้านภาษาและทักษะการคิดของเด็กปฐมวัยโดยการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach) และมีการบูรณาการรูปแบบการสอนในหน่วยการเรียนรู้ 18 หน่วย 18 สัปดาห์
เด็กมีพัฒนาการทางภาษาการสื่อสารที่ดีขึ้น คือ สามารถเลือกใช้คำและภาษาถูกต้องตามสถานการณ์ สามารถพูดเรียงลำดับเพื่อใช้ในการสื่อสารได้ดี เด็กมีความกระตือรือร้นอยากที่จะพูดภาษาไทยกับผู้อื่น มีความกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าพูด พูดออกเสียงได้ดี เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินและได้ฟังสามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ถูกต้อง สามารถนำเสนอเรื่องราวจากสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ตั้งใจปฏิบัติกิจกรรมด้วยความสนใจ และ
เด็กสามารถสื่อสารได้ดีผ่านการแสดงออกในกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรมประจำวัน คือ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้งและกิจกรรมเกมการศึกษา
เด็กมีพัฒนาการทางด้านทักษะการคิด คือ เด็กสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ ได้ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้มีความแปลกใหม่ รู้จักการแก้ปัญหาในเรื่องง่ายๆ อธิบายและลงความเห็นสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผล
ส่งผลให้นักเรียนได้รับรางวัลดังนี้
- รางวัลเหรียญทองชนะเลิศการสร้างภาพด้วยการฉีก ตัด ปะ กระดาษ ระดับชั้นปฐมวัย
ในระดับเครือข่ายอำเภอชาติตระการ 2 เป็นตัวแทนไปแข่งขันระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลกเขต 3 ณ อำเภอพรหมพิราม ได้รางวัลเหรียญทอง ในระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลกเขต 3 ครั้งที่ 68 ประจำปีการศึกษา 2561
- รางวัลเหรียญทองลำดับที่ 2 การปั้นดินน้ำมัน ระดับชั้นปฐมวัย ระดับเครือข่ายอำเภอชาติตระการ 2
2. พ่อแม่ ผู้ปกครอง จากการจัดกิจกรรมพบว่านักเรียนสามารถสื่อสารภาษาไทยกับผู้ปกครองได้ โดยผู้ปกครองเล่าพฤติกรรมของเด็กเมื่ออยู่ที่บ้านเกี่ยวกับการพูดภาษาไทย และสามารถอธิบายสิ่งที่ตนเองเรียนในแต่ละวันให้ผู้ปกครองฟัง ผู้ปกครองมีความภูมิใจในตัวเด็กและพร้อมให้การช่วยเหลือทางโรงเรียน และร่วมมือกับทางโรงเรียนในการร่วมกันพัฒนาเด็ก
3. ตัวครู
- ได้รับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการการดำเนินการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับเครือข่ายชาติตระการ 2 ครั้งที่ 68 ประจำปีการศึกษา 2561
- ได้รับเกียรติบัตรผู้ฝึกซ้อมนักเรียนเข้าร่วมการแข้งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลกเขต 3 ในปีการศึกษา 2561
4. บุคลากรในโรงเรียน ได้นำนวัตกรรมไปเผยแพร่ให้แก่ครูอนุบาลท่านอื่นในโรงเรียน รวมถึงบุคลากรในโรงเรียนได้ทราบถึงแนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะทางด้านภาษาและทักษะการคิดของเด็กปฐมวัย โดยการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach) สามารถนำไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา ใช้การจัดการเรียนการสอน โดยผ่านกระบวนการ Professional Learning Community (PLC) ของคณะครูในโรงเรียน
5. สถานศึกษา โรงเรียนได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครอง และผู้ปกครองให้การช่วยเหลือสนับสนุนการจัดกิจกรรมของทางโรงเรียน
ปัจจัยที่ทำให้วิธีการประสบผลสำเร็จ
1. ด้านการบริหารจัดการ ได้รับการส่งเสริม สนับสนุนด้านการจัดการศึกษา จากผู้บริหารสถานศึกษา ฝ่ายการเงินจัดสรรงบประมาณให้อย่างเพียงพอ
2. ด้านการจัดการเรียนการสอน ครูมีความตั้งใจในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ได้สร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ที่หลากหลาย ทราบถึงปัญหาของเด็กและหาแนวทางแก้ไขได้ และได้รับการส่งเสริมจากเพื่อนร่วมงาน เป็นที่ปรึกษา คอยให้กำลังใจ และให้คำแนะนำในการออกแบบสื่อนวัตกรรม
3. ด้านการประสานชุมชน ได้รับความร่วมมือจากเด็ก ผู้ปกครอง และชุมชนเป็นอย่างดี เด็กให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมีความสุขในขณะปฏิบัติกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach) ในด้านผู้ปกครองและชุมชนให้การสนับสนุนโดยการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนจากวัตถุท้องถิ่น และให้ความร่วมมือช่วยกันดูแลเด็ก ซึ่งส่งผลให้มีการพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อเป็นการฝึกเด็กให้มีทักษะคิดและเป็นพูดภาษาไทยสื่อสารได้คล่อง
ประโยชน์ที่ได้จากการใช้นวัตกรรม
1. เด็กเกิดทักษะพื้นฐานทางด้านภาษาและทักษะการคิด โดยการการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach)
2. เด็กมีความมั่นใจการพูด กล้าแสดงความคิดเห็น
3. เด็กออกเสียงคำได้ชัดเจน และถูกต้อง
4. เด็กเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ฟัง และสามารถสรุปเป็นองค์ความรู้ของตนเองได้โดยผ่านการนำเสนอผลงานของตนเอง
5. ครูได้แนวทางการพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ เช่น ทักษะทางด้านกล้ามเนื้อมือ ทักษะทางด้านกระบวนการวิทยาศาสตร์ ทักษะกระบวนการทางด้านคณิตศาสตร์ ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach)