ชื่อเรื่อง การบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม
ที่ส่งเสริมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน
จังหวัดเชียงใหม่
ผู้วิจัย นางเบญจรัตน์ เมธะปัญญา
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ที่ส่งเสริมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน และความต้องการในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ส่งเสริมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 2) เพื่อสร้างแนวทางการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ และ ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ที่ส่งเสริมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 3) เพื่อศึกษาผลการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมที่ส่งเสริมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน ตามวงจรคุณภาพ PDCA (Deming cycle) คือ 1) ขั้นการวางแผนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Plan) 2) ขั้นการลงมือปฏิบัติการบริหารจัดการ แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Do) 3) ขั้นการตรวจสอบ กำกับติดตาม และประเมินผล การปฏิบัติการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Check) และ 4) ขั้นการนำผลไปพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Act) ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน ครูผู้สอนโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกการประชุมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม แบบสังเกตการดำเนินงานโครงการหรือกิจกรรม แบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น สัมภาษณ์ความคิดเห็นของนักเรียนและผู้ปกครอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความถี่ และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ คือ
1. สภาพปัจจุบัน และความต้องการในการใช้แหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งเสริมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน พบว่า โรงเรียนมีจุดแข็งที่สำคัญคือ มีเครือข่ายครูภูมิปัญญาท้องถิ่น และแหล่งเรียนรู้ทั้งภายใน และภายนอกโรงเรียนจำนวนมาก มีนโยบายส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning แต่มีจุดอ่อนที่สำคัญ คือ ครูไม่ได้นำแหล่งเรียนรู้มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมผู้เรียนเท่าที่ควร ครูขาดข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของแหล่งเรียนรู้ ไม่มีตารางการใช้แหล่งเรียนรู้อย่างชัดเจน และขาดคู่มือรวบรวมข้อมูลสารสนเทศแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นสำหรับครู
2. ความต้องการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น พบว่า แหล่งเรียนรู้และ ภูมิปัญญาท้องถิ่นในภาพรวม มีความต้องการในการพัฒนาด้านการจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อให้ครูสามารถนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้ และแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนที่ต้องการพัฒนา จำนวน 5 แหล่ง คือ ห้องสมุดโรงเรียน ห้องศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ ห้องการงานอาชีพ สนามกีฬาเอนกประสงค์ และสนามเด็กเล่น
3. แนวทางในการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมของ
ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ชุมชน ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครองนักเรียน นักการภารโรง และนักเรียน
มีโครงการจำนวน 6 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบข้อมูลแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียน โครงการพัฒนาห้องศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ โครงการพัฒนาห้องการงานอาชีพ โครงการพัฒนาสนามกีฬาเอนกประสงค์ และโครงการพัฒนาสนามเด็กเล่น
4. ผลการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมที่ส่งเสริม การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 พบว่า
4.1 ผลการดำเนินตามวงจรคุณภาพ PDCA ในขั้นการวางแผน ใช้การประชุมผู้มี ส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และแต่งตั้งกรรมการขั้นการปฏิบัติ ใช้การประชุมเพื่อมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ และดำเนินการตามโครงการ ขั้นการตรวจสอบ กำกับติดตาม และประเมินผลใช้การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบการรายงานความก้าวหน้าจำนวน 3 ไตรมาส และขั้นการสะท้อนผลเพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการ ใช้วิธีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสนอผลสำเร็จของการปฏิบัติงาน สภาพปัญหา ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไข
4.2 ผลการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น พบว่า โรงเรียนมีคู่มือข้อมูลสารสนเทศแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นในรูปแบบของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ โดยครู นักเรียน และบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลได้ มีห้องสมุดที่ทันสมัย มีห้องศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการที่สามารถดำเนินกิจกรรมพัฒนา องค์ความรู้เกี่ยวกับ STEM ศึกษา และมีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมและเพียงพอ มีร้านค้าฝึกฝนอาชีพ การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีสนามกีฬาเอนกประสงค์ที่สามารถใช้บูรณาการการสอนในวิชาต่าง ๆ ได้ มีสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในด้าน ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
4.3 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจในภาพรวม ต่อการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมที่ส่งเสริมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาล วัดเชียงยืนตามวงจรคุณภาพ PDCA ในระดับมากที่สุด
4.4 ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น พบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นในทางบวกต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู โดยส่วนใหญ่ระบุว่า กิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูจัดมีความสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อหน่าย ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ได้ทำงานเป็นกลุ่ม มีความน่าตื่นเต้น
4.5 ความคิดเห็นของผู้ปกครอง และชุมชนที่มีต่อการใช้บริการแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน พบว่า มีผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามาใช้บริการในช่วงหลังเลิกเรียน โดยแหล่งที่มาใช้บริการได้แก่ สนามกีฬาเอนกประสงค์ สนามเด็กเล่น และห้องสมุด โดยส่วนใหญ่ระบุว่า มีประโยชน์ต่อผู้ปกครอง และชุมชน ทำให้ได้มีโอกาสอ่านหนังสือช่วงรอรับลูก บุตรหลาน และตนเองได้ออกกำลังกายในช่วงเย็น ชุมชนมีสถานที่ออกกำลังกายใกล้บ้าน