ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย นางสาวพิศมัย ศิริสุทธา ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียนเทศบาล 2 มุขมนตรี สำนักการศึกษา เทศบาลนครอุดรธานี
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎี คอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 2 มุขมนตรี ให้นักเรียนร้อยละ 70 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป และ 3) ศึกษาความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง เศษส่วน
กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/1 โรงเรียนเทศบาล 2 มุขมนตรี สำนักการศึกษา เทศบาลนครอุดรธานี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 26 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) รูปแบบการวิจัยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 3 ประเภท ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 15 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน แบบบันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ ผลงานนักเรียน ได้แก่ ใบกิจกรรม แบบฝึกทักษะ และแบบทดสอบย่อยท้ายวงจรและ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ และแบบทดสอบ วัดความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และสรุปความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิตส์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นการทบทวนความรู้และประสบการณ์เดิมเพื่อนำมาเชื่อมโยงหรือประยุกต์ในการสร้างความรู้ใหม่ ด้วยการใช้สื่อที่หลากหลาย 2) ขั้นสอน เป็นขั้นการพัฒนามโนคติจากสถานการณ์ปัญหา ที่สร้างขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนย่อย 3 ขั้นตอน คือ 2.1) ขั้นเผชิญสถานการณ์ปัญหาและแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล เป็นขั้นศึกษาสถานการณ์ปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยตนเองเป็นรายบุคคล นักเรียนสามารถทำความเข้าใจปัญหาบอกได้ว่าโจทย์กล่าวถึงอะไร กำหนดอะไรและถามหาอะไรได้ 2.2) ขั้นไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย เป็นขั้นที่นักเรียนได้เข้ากลุ่ม โดยแต่ละคนนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาของตนเองให้สมาชิกในกลุ่มทราบ นักเรียนส่วนมากกล้าอภิปรายแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอแนวคิดของตนเองและร่วมกันสรุปเป็นความคิดของกลุ่มได้ นักเรียนได้ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการทำงานเป็นทีม 2.3) ขั้นไตร่ตรองระดับกลุ่มใหญ่ เป็นขั้นที่แต่ละกลุ่ม ส่งตัวแทนนำเสนอแนวทางแก้สถานการณ์ปัญหาของกลุ่มต่อระดับกลุ่มใหญ่เพื่อหาแนวทางแก้สถานการณ์ปัญหาที่ถูกต้องและดีที่สุด นักเรียนนำเสนอผลงานของกลุ่มได้ดี มีการร่วมอภิปรายหรือให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเมื่อมีข้อบกพร่อง และเป็นการตรวจสอบผลงานถึงความสมเหตุสมผลของคำตอบและนำวิธีการแก้ปัญหาไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาสถานการณ์อื่นๆได้ โดยทั้ง 3 ขั้นตอนย่อยนี้เป็นสถานการณ์ปัญหาเดียวกัน โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา 4 ขั้นตอน คือ ขั้นทำความเข้าใจปัญหา ขั้นวางแผนแก้ปัญหา ขั้นดำเนินการตามแผน และขั้นตรวจสอบผล เป็นแนวทางในการดำเนินการแก้สถานการณ์ปัญหาในทุกขั้นตอนย่อย 3) ขั้นสรุป เป็นขั้นที่นักเรียนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ และแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องที่เรียน ครูช่วยสรุปเพิ่มเติมเพื่อให้นักเรียนได้ความคิดรวบยอดและหลักการที่ถูกต้อง และ 4) ขั้นฝึกทักษะ เป็นขั้นที่นักเรียนทำแบบฝึกทักษะ ที่ครูเตรียมไว้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ปัญหาที่มีความหลากหลาย ผลการพัฒนาพบว่า นักเรียนร้อยละ 70 ทำแบบฝึกทักษะได้ถูกต้องและได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของคะแนนทั้งหมด
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้คะแนนเฉลี่ย16.58 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 82.88 และนักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 88.46 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด
3. นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 87.31 โดยแบ่งตามขั้นตอนของกระบวนการแก้ปัญหาได้ดังนี้ ขั้นทำความเข้าใจปัญหา ขั้นวางแผนแก้ปัญหา ขั้นดำเนินการตามแผน และขั้นตรวจสอบผล นักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 92.31, 90.77, 82.69 และ 83.46 ตามลำดับ