รายงานเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับหนังสือส่งเสริม
การอ่าน ชุดสนุกหรรษากับชนิดของคำ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจ
ชื่อผู้รายงาน: นางสมลักษณ์ ธรรมวิชิต ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สถานที่ทำงาน: โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านท่าตะเภา) อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองชุมพร
ปีที่รายงาน: 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการรายงานการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดสนุกหรรษากับชนิดของคำ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจ โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านท่าตะเภา) ความมุ่งหมายของการศึกษาเพื่อสร้างและพัฒนาหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียน ชุดสนุกหรรษากับชนิดของคำ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้ได้ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพที่กำหนด 80/80 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนและเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียน ชุดสนุกหรรษากับชนิดของคำ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านท่าตะเภา) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านท่าตะเภา) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองชุมพร จำนวน 41 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม โดยผู้รายงานเป็นครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยด้วยตนเอง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษามี 4 ชนิด ได้แก่ 1)หนังสือการ์ตูนประกอบการเรียน จำนวน 8 เล่ม 2)แผนการจัดการเรียนรู้การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับหนังสือส่งเสริมการอ่าน จำนวน 16 แผน 3)แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ชนิดของคำ ในภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 30 ข้อ และ 4)แบบสอบถาม วัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียน จำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ การหาค่าประสิทธิภาพของหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียน ค่าดัชนีประสิทธิผล และการทดสอบค่าที
ปรากฏผลการพัฒนา ดังนี้
1. หนังสือการ์ตูนประกอบการเรียน ชุดสนุกหรรษากับชนิดของคำ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านท่าตะเภา) มีประสิทธิภาพ (E1/E2 ) เท่ากับ 86.69/86.57 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 80/80
2. นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน โดยพบว่า มีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน เท่ากับ 12.32 คิดเป็นร้อยละ 41.08 ของคะแนนเต็ม คะแนนเฉลี่ยหลังเรียน เท่ากับ 25.97 คิดเป็นร้อยละ 86.57 ของคะแนนเต็ม ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 13.65 และเมื่อพิจารณาเป็นรายบุคคล พบว่านักเรียนมีคะแนน หลังเรียนสูงขึ้นทุกคน และเมื่อคำนวณค่าดัชนีประสิทธิผลของการเรียนรู้โดยใช้หนังสือการ์ตูนประกอบการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ชุดสนุกหรรษากับชนิดของคำ มีค่า เท่ากับ 0.7720 แสดงว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าทางเรียนเมื่อเทียบกับคะแนนก่อนเรียนคิดเป็น ร้อยละ 77.20
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้หนังสือการ์ตูนประกอบการเรียน ชุดสนุกหรรษากับชนิดของคำ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านท่าตะเภา) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄=4.39)