การแสดงพื้นเมือง
การแสดงพื้นเมือง หมายถึง การแสดงที่เกิดขึ้นตามท้องถิ่นและตามพื้นที่ต่างๆ ของแต่ละภูมิภาค โดยอาจมีการพัฒนา ดัดแปลงมาจากการละเล่นพื้นเมืองของท้องถิ่นนั้นๆ
การแสดงพื้นเมือง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่บรรพบุรุษไทยได้สั่งสม สร้างสรรค์ และสืบทอดไว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้และรักในคุณค่าในศิลปะไทยในแขนงนี้ เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และพร้อมที่จะช่วยสืบทอด จรรโลง และธำรงไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไป
การแสดงพื้นเมือง เป็นการแสดงเพื่อก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ สังคม วัฒนธรรม แต่ละท้องถิ่น ดังนั้นการแบ่งประเภทของการแสดงพื้นเมืองของไทย โดยทั่วไปจะแบ่งตามส่วนภูมิภาค ดังนี้
๑. การแสดงพื้นเมืองของภาคเหนือ
๒. การแสดงพื้นเมืองของภาคกลาง
๓. การแสดงพื้นเมืองของอีสาน
๔. การแสดงพื้นเมืองของใต้
กล่าวได้ว่าการแสดงพื้นเมืองในแต่ละภาคจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของมูลเหตุแห่งการแสดง ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้
๑. แสดงเพื่อเซ่นสรวงหรือบูชาเทพเจ้า เป็นการแสดงเพื่อแสดงความเคารพต่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเซ่นบวงสรวงดวงวิญญาณที่ล่วงลับ
๒. แสดงเพื่อความสนุกสนานในเทศกาลต่างๆ เป็นการรำเพื่อการรื่นเริง ของกลุ่มชนตามหมู่บ้าน ในโอกาสต่างๆ หรือเพื่อเกี้ยวพาราสีกันระหว่าง ชาย หญิง
๓. แสดงเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นการรำเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ หรือใช้ในโอกาสต้อนรับแขกผู้มาเยือน
๔. แสดงเพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอันเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ และวัฒนธรรมประเพณีเพื่อสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก
การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ
การแสดงพื้นเมืองภาค เหนือ ศิลปะการแสดงทางภาคเหนือ เป็นลักษณะศิลปะที่มีการผสมผสานกันระหว่างชนพื้นเมืองชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไทยลานนา ไทยใหญ่ เงี้ยว รวมถึงพวกพม่าที่เคยเข้ามาปกครองล้านนาไทย ทำให้นาฏศิลป์หรือการแสดงที่เกิดขึ้นในภาคเหนือมีความหลากหลาย แต่ยังคงมีเอกลักษณ์เฮพาะที่แสดงถึงความนุ่มนวลของท่วงท่า และทำนองเพลงประกอบกับความไพเราะของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด สี ตี เป่า ที่มีความเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็น เป้ยะ สะล้อ ซอ ซึง และกลอง ที่ปรากฏอยู่ในการฟ้อนประเภทต่างๆ รวมทั้งการแสดงที่มีความเข้มแข็ง หนักแน่นในแบบฉบับของการตีกลองสะบัดชัย และการตบมะผาบ
การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือนอกจะมีลักษณะเป็นแบบพื้นเมืองเดิม ไทยล้านนา ไทยใหญ่ เงี้ยวรวมถึงพม่า ผสมกันอยู่แล้ว ยังมีลักษณะการแสดงของภาคกลางรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชายาพระนามว่าเจ้าดารารัศมี พระราชธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าแม่ทิพเกสร เจ้าเมืองเชียงใหม่ ทำให้อิทธิพลการแสดงของภาคเหนือในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีลักษณะของ ภาคกลางปะปนอยู่บ้าง ทำให้สามารถแบ่งลักษณะการแสดงพื้นเมืองภาคเหนือได้เป็น ๓ ลักษณะ
๑.ลักษณะการฟ้อนแบบพื้นเมืองเดิม เป็นการแสดงที่มีอยู่ตามท้องถิ่นทั่วไป เช่น ฟ้อนครัวทาน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน เป็นต้น
๒.ลักษณะการฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลจากชาติอื่น อาทิ พม่า ไทยใหญ่ เงี้ยว เช่น ฟ้อนไต ฟ้อนโต ฟ้อนเงี้ยว เป็นต้น
๓.ลักษณะ การฟ้อนแบบคุ้มหลวง เป็นการฟ้อนที่เกิดขึ้นในคุ้มของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งมีลักษณะการฟ้อนของภาคกลางผสมอยู่ เช่น ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนน้อยใจยา เป็นต้น
ปัจจุบัน การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ได้สร้างสรรค์จากท่าและทำนองเพลงพื้นเมืองล้านนา ใช้หัตกรรมพื้นบ้านเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง เช่น ฟ้อนผาง ฟ้อนที เป็นต้น
การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ ได้แก่
- ฟ้อนผีมด ฟ้อนผีเม็ง เป็นการบูชาผีบรรพบุรุษ
- ฟ้อนกิงกะหลา เป็นการฟ้อนเรียนแบบนก มีลักษณะเป็นการรำคู่ เกี้ยวพาราสีหรือหยอกล้อเล่นหัวกัน
- ฟ้อนผีนางดัง เป็นการฟ้อนของชาวล้านนา นิยมเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์
- ฟ้อนเจิง เป็นการฟ้อนที่แสดง ถึงศิลปะการป้องกันตัวด้วยมือเปล่า
- ฟ้อนดาบ เป็นการแสดงถึงศิลปะการป้องกันตัวด้วยมีดดาบ
- ฟ้อนจ๊าด เป็นการฟ้อนที่เล่นเป็นเรื่องราวแบบโบราณ นิยมแสดงในงานศพ และงานเทศกาลต่างๆ
- ตบมะผาบ เป็นการฟ้อนด้วยมือเปล่า โดยใช้มือตบไปตามร่างกายด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้เกิดเสียงดัง
- ฟ้อนเล็บ เป็นการฟ้อนแบบดั้งเดิมที่มีความสวยงาม โดยผู้ฟ้อนสวมเล็บสีทอง
- ฟ้อนเทียน เป็นการฟ้อนแบบดั้งเดิมเช่นเดียวกับฟ้อนเล็บ แต่จะฟ้อนเวลากลางคืน โดยผู้ฟ้อนจะถือเทียน
- ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา เป็นการฟ้อนที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมีทรงประดิษฐ์ร่วมกับครูช่างฟ้อนของพม่า โดยใช้ท่ารำของราชสำนักพม่าผสมท่าฟ้อน โดยใช้ท่ารำของสำนักพม่าผสมท่าฟ้อนของไทย
- ฟ้อนล่องน่าน หรือฟ้อนน้อยใจยา เป็นการฟ้อนเพื่อใช้ประกอบการแสดงละครเรื่องน้อยใจยา มีลักษณะการรำคู่ระหว่างชายกับหญิง
- ฟ้อนสาวไหม เป็นการฟ้อนที่แสดงถึงกรรมวิธีการทอผ้าไหม ซึ่งเป็นอาชีพของชาวไทยภาคเหนือ
- ฟ้อนเก็บใบชา เป็นการฟ้อนที่แสดงถึงกรรมวิธีการเก็บใบชา ซึ่งเป็นอาชีพของชาวไทยภาคเหนือ
- ฟ้อนปั่นฝ้าย เป็นการฟ้อนที่นิยมแสดงเพื่อคั่นการขับซอ ผู้ฟ้อนจะแสดงกิริยาเลียนแบบการปั่นฝ้าย
- ฟ้อนหางนกยูง เป็นการฟ้อนที่ใช้หางนกยูงเป็นอุปกรณ์ประกอบ เป็นการฟ้อนเพื่อแสดงเอกลักษณ์ของชาวล้านนา มีหางนกยูงเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง
- ฟ้อนที เป็นการฟ้อนโดยใช้ผู้แสดงหญิงล้วน แต่งกายพื้นเมือง ใช้ทำนองเพลงเหมยมุงเมือง
- ฟ้อนผาง เป็นการฟ้อนโดยใช้ผู้แสดงหญิงล้วน แต่งกายพื้นเมือง อุปกรณ์ประกอบการแสดง คือ ตะคันดินเผาจุดเทียน
การแสดงพื้นเมืองภาคใต้
การแสดงพื้นเมือง ภาคใต้ ด้วยเหตุที่ภาคใต้เป็นภาคที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาลาเชีย และเป็นดินแดนที่ติดทะเล ทำให้เกิดการผสมผสานทั้งทางศาสนา วัฒนธรรม และอารยธรรมจากกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ เกี่ยวโยงถึงศาสนาและพิธีกรรม จนทำให้นาฏศิลป์ และดนตรีในภาคใต้มีลักษณะที่เป็นเครื่องบันเทิงทั้งในพิธีกรรม และพิธีชาวบ้าน รวมทั้งงานรื่นเริงโดยมีลักษณะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือมีจังหวะที่เร่งเร้า กระฉับกระเฉง ผิดจากภาคอื่นๆ และเน้นจังหวะมากกว่าท่วงทำนอง โดยมีลักษณะที่เด่นชัดของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีให้จังหวะเป็นสำคัญ ส่วนลีลาท่ารำจะมีความคล่องแคล่วว่องไว สนุกสนาน การแสดงพื้นเมืองภาคใต้มีทั้งแบบพื้นเมืองเดิม และแบบประยุกต์ที่ได้แนวความคิดมาแล้วพัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบใหม่ หรือรับมาบางส่วนแล้วแต่งเติมเข้าไป
การแสดงพื้นเมืองภาคใต้ ได้แก่
- หนังตะลุง เรียกว่า หนัง หรือ หนังควน ในสมัยโบราณนิยมแสดงในงานนักขัตฤกษ์ และงานฉลองต่างๆ
- ลิเกป่า เป็นการแสดงพื้นเมืองภาคใต้อีกอย่างหนึ่ง นิยมแสดงในงานทั่วไปหรือใช้ในงานแก้บน
- โนรา เป็นการแสดงแบบโบราณที่มีมาช้านาน นิยมแสดงเพื่อความเป็นสิริมงคล
- โต๊ะครึม เป็นการแสดงประกอบการเข้าทรง เพื่อบูชาสิ่งศักสิทธิ์ หรือบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ
- สิละ เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า
- รองเง็ง เป็นการแสดงของชาวไทยมุสลิมที่ได้รับความนิยมมาก เป็นการเต้นรำระหว่าง หญิง - ชาย ในงานมงคล
- ซัมเป็ง เป็นการรำตามจังหวะเพลง แสดงในงานรื่นเริงต่างๆหรืองานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
- มะโยง เป็นศิลปะการแสดงละครของชาวไทยมุสลิมจากวังรายา เมืองปัตตานีในอดีตใช้ผู้แสดงส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ยกเว้นตัวตลก พระเอกเรียกว่าเปาะโย่ง นางเอกเรียกว่ามะโยง
- ตารีกีปัส เป็นการรำพัด ซึ่งเกิดจากการผสมผสานกับการแสดงของมาเลเซียในเพลงชื่อ บัวกาน่า วงดนตรีพื้นบ้านผสมสากล แสดงได้สองแบบคือชาย-หญิง และหญิงล้วน
- ร่อนแร่ เป็นการแสดงที่นำกรรมวิธีร่อนแร่มาสร้างสรรค์ลีลาท่ารำ
- ปาแต๊ะ เป็นการแสดงระบำพื้นเมือง ลีลาท่ารำนำมาจากกรรมวิธีการย้อมทำลวดลายโสร่งปาเต๊ะของไทยมุสลิม ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน
การแสดงพื้นเมืองของภาคกลาง
การแสดงพื้นเมืองของ ภาคกลาง ภาคกลางเป็นภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านกสิกรรม และเกษตรกรรม ทำให้เป็นภาคที่มีความสมบูรณ์ ประชาชนมีความเป็นอยู่สุขสบาย การแสดงหรือการละเล่น ที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปในลักษณะที่สนุกสนาน หรือเป็นการร้องเกี้ยวพาราสีกัน เช่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว หรือเป็นการแสดงพื้นเมืองที่สื่อให้เห็นการประกอบอาชีพ
การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ได้แก่
- รำโทน เป็นการรำ และการร้องของชาวบ้าน โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เป็นการร้อง และการรำไปตามความถนัด ไม่มีแบบแผนหรือท่ารำที่กำหนดแน่นอน
- รำกลองยาว เป็นการแสดงเพื่อความรื่นเริง ในขบวนแห่ต่างๆ ของไทยมีผู้แสดงทั้งชาย และหญิง ออกมรำเป็นคู่ๆ โดยมีผู้ตีกลองประกอบจังหวะ พร้อม ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง
- ระบำชาวนา เป็นวิถีชีวิตความเป็นมาที่พากันออกมาไถนาหว่าน และเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวเจริญงอกงาม หลังจากนั้นพากันร้องรำเพลงด้วยความสนุกสนาน
- เต้นกำรำเคียว เป็นการแสดงพื้นเมืองของจังหวัดนครสวรรค์ นิยมเล่นกันตาม ท้องนา ผู้แสดงทั้งชายและหญิงถือเคียวมือหนึ่งถือถือรวงข้าว ร้องเกี้ยวพาราสีกันอย่างสนุกสนาน
- รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า เป็นการละเล่นที่แสดงวิธีชีวิตอันสนุกของชาวบ้านหมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการร้องรำ เกี้ยวพาราสีระหว่างชาย-หญิง เริ่มการแสดงด้วยการประโคมกลองยาว จบแล้วผู้แสดงชาย-หญิง ออกรำทีละคู่
การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน
การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน ศิลปะการแสดงภาคอีสาน จะมีลักษณะคล้ายภาคเหนือ ในการรวมกลุ่มของชนชาติต่างๆ เช่นพวกไทยลาว ภูไทย ไทยพวน แสก โซ่ แต่ละกลุ่มมีลักษณะแตกต่างตามเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ แต่ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นการแสดงที่เกิดขึ้นเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา และความสนุกสนานรื่นเริงในเทศกาลต่างๆ การร่ายรำจะมีลักษณะเฉพาะของการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ก้าวเท้า การวาดแขน การยกเท้า การส่ายมือ การส่ายสะโพก ที่เกิดขึ้นจากท่าทางอันเป็นธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วนำมาประดิษฐ์หรือปรุงแต่งให้สวยงามตามแบบท้องถิ่นอีสานเช่นทำท่าทาง ลักษณะเเอ่นตัวแล้วโยกตัวไปมา เวลาก้าวตามจังหวะก็มีการกระแทกกระทั้นตัว ดีดขา ขยับเอว ขยับไหล่ เน้นความสนุกสนาน
การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของชนพื้นเมืองกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ การแสดงพื้นเมืองภาคอีสานจะมีทั้งการแสดงที่เป็นแบบดั่งเดิมที่มีการสืบทอด กันมา และการแสดงที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นเป็นไปตามความถนัดหรือความสามารถของ แต่ละคน โดยไม่มีระเบียบแบบแผน
การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน ได้แก่
- กันตรึม เป็นการแสดงเพื่อบูชาหรือบูชาหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ
- ฟ้อนภูไท เป็นการฟ้อนเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และฟ้อนในงานประเพณีต่างๆ
- เซิ้งตังหวาย เป็นการแสดงเพื่อถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือในงานพิธีกรรมต่างๆ
- เซิ้งบั้งไฟ เป็นการฟ้อนในพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการขอฝน
- เรือมจับกรับ เป็นการแสดงที่ใช้ผู้ชายถือกรับออกมาร่ายรำไปตามจังหวะเพลงโดยไม่มีแบบแผน หรือทำท่าที่แน่นอน เป็นการรำเพื่อความสนุกสนาน
- เรือมอันเร หรือ กระทบไม้ บางทีก็เรียกว่า แสกเต้นสาก เป็นการแสดงที่ใช้ไม้ไผ่มากระทบกันตามจังหวะเพลง แล้วผู้รำก็กระโดดข้ามไม้ด้วยท่าทางต่างๆ
- มวยโบราณ เป็นศิลปะการต่อสู้ที่แสดงถึงความกล้าหาญ เข้มแข็ง นิยมแสดงในเทศกาลต่างๆ
การแสดงพื้นเมืองของกรมศิลปากร
การแสดงพื้นเมือง ของกรมศิลปากร ปัจจุบันการแสดงพื้นเมืองมีอยู่มากมายตามภูมิภาคต่างๆ มีทั้งที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม และแบบที่คิดขึ้นใหม่ เพราะสาเหตุแห่งความนิยมทางวัฒนธรรมพื้นเมือง ด้วยการแลกเปลี่ยนในรูปแบบของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และการแสดงวัฒนธรรมสี่ภาค รวมทั้งการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบ หรือแม้กระทั้งการแสดงเพื่อเป็น เอกลักษณ์ของจังหวัด มาให้การแสดงพื้นเมืองเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย กอปรกับผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรได้รับความรู้ด้านการแสดงพื้น เมือง นำมาถ่ายทอด และฝึกหัด เพื่อใช้สำหรับการแสดงในงานต่างๆ ทำให้ชุดการแสดงพื้นเมืองเป็นที่นิยมแพร่หลาย ซึ่งเมื่อกรมศิลปากรนำมาจัดแสดงจะมีทั้งที่เป็น
แบบแผนดั้งเดิม และแบบที่ปรับปรุงขึ้นใหม่
๓.๑ แบบดั้งเดิม
เป็นการแสดงพื้นเมืองที่เกิดขึ้นในชนบทของทุกภาคของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม และสภาพของสังคม รวมทั้งการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละท้องถิ่น ที่มีความแตกต่างกันตามลักษณะภูมิอากาศ ออกมาเป็นการแสดงในรูปแบบของการละเล่นกันในกลุ่มชนเพื่อพิธีการ เพื่อความสนุกสนาน หรือเพื่อเทศกาลที่สำคัญๆ ได้แก่
- กลองสะบัดชัย
- ฟ้อนเล็บ
- ฟ้อนเทียน
- ฟ้อนเงี้ยว
- ฟ้อนเจิง
- ฟ้อนดาบ
- รำโนรา
- รำสิละ
- แสกเต้นสาก
- ฟ้อนภูไท
- เซิ้งกระติ๊บข้าว
- รำโทน
- รำแม่ศรี
- เรือมจับกรับ
- เซิ้งกะโป๋
- เซิ้งบั้งไฟ
- เซิ้งตังหวาย
๓.๒ แบบที่กรมศิลปากรประดิษฐ์ขึ้นใหม่
เป็นการแสดงพื้นเมืองที่กรมศิลปากรนำมาปรับปรุง และประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมทั้งในด้านความสวยงาม และระยะเวลาในการแสดงให้มีความกระชับ และรวดเร็ว ซึ่งเป็นชุดการแสดงที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่
- ฟ้อนแพน
- ฟ้อนสาวไหม
- ฟ้อนมาลัย
- ฟ้อนดวงเดือน
- ฟ้อนจันทราพาฝัน
- ระบำตารีกีปัส
- ระบำร่อนแร่
- รำซัดชาตรี
- ระบำศิลปากร
- ระบำเก็บใบชา
- ระบำชาวนา
- ระบำสี่ภาค
- ระบำไตรภาคี
- ระบำตรีลีลา
- เซิ้งโปงลาง
- เซิ้งอีสาน
- เซิ้งสวิง
- เซิ้งกระหยัง
- เซิ้งสราญ