ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ
ตามแนวพระราชดำริในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านควนมีชัย
ชื่อผู้ประเมิน : นางปุณยวรีย์ เศวตวงศ์สกุล
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2561
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติตามแนวพระราชดำริในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านควนมีชัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการในด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทเกี่ยวกับความพร้อมและความเหมาะสมของสถานศึกษา ความต้องการจำเป็นของโครงการความสอดคล้องของวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด และการได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าเกี่ยวกับบุคลากรของสถานศึกษา งบประมาณ สถานที่ สื่อและแหล่งเรียนรู้ และระบบบริหารที่เอื้อต่อการดำเนินงานโครงการ 3) เพื่อประเมินกระบวนการเกี่ยวกับการเตรียมการ การดำเนินการในแต่ละกิจกรรม การประเมินผล การสรุปและรายงานผลโครงการ 4) เพื่อประเมินผลผลิต เกี่ยวกับผลผลิตการดำเนินงานโครงการ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านเศรษฐกิจพอเพียงของผู้เรียน และความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการ
ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านควนมีชัย อำเภอชะอวด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 ในปีการศึกษา 2561 รวมทั้งสิ้น จำนวน 229 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 100 คน ประกอบด้วย 1) ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน 2) ครู จำนวน 10 คน 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 41 คน 4) ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 41 คน 5) กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ แบบสอบถามด้านบริบท แบบสอบถามด้านปัจจัยนำเข้า แบบสอบถามด้านกระบวนการ แบบสอบถามด้านผลผลิต แบบสอบถามด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของนักเรียนด้านเศรษฐกิจพอเพียง และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการ โดยการประเมิน 5 ตัวชี้วัด ในภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุดและผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด โดยพบว่า ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับเป้าหมายมีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือด้านความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด การได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ความต้องการจำเป็นของโครงการ และความพร้อมและความเหมาะสมของสถานศึกษา ตามลำดับ
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ โดยประเมิน 5 ตัวชี้วัด ในภาพรวมโครงการ มีความพร้อมอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด โดยพบว่า ด้านบุคลากรของสถานศึกษาและสื่อวัสดุอุปกรณ์ มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ระบบบริหารที่เอื้อต่อการดำเนินงานโครงการ ด้านงบประมาณ และด้านสถานที่ ตามลำดับ
3. ผลการประเมินกระบวนการของโครงการ โดยประเมิน 4 ตัวชี้วัด ในภาพรวมโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด โดยพบว่า ขั้นสรุปและรายงานผล มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ขั้นเตรียมการ ขั้นดำเนินการ และขั้นประเมินผล ตามลำดับ
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการพบว่า โดยภาพรวมนักเรียนมีผลการดำเนินงาน อยู่ในระดับมากที่สุดผ่าน และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัดพบว่า ด้านผลการดำเนินงานโครงการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนด้านเศรษฐกิจพอเพียง และความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามลำดับ เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละตัวชี้วัดพบว่า
4.1 ผลการดำเนินงานโครงการทั้ง 8 กิจกรรม พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุดและผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัดโดยพบว่า การจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักเศรษฐกิจพอเพียงมีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือการบริหารจัดการโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรเพื่ออาหารกลางวันและการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนและกิจกรรมสหกรณ์โรงเรียน การฝึกอาชีพ และการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัย ตามลำดับ
4.2 ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนด้านเศรษฐกิจพอเพียง ทั้ง 5 ตัวชี้วัด ผ่านเกณฑ์การประเมิน และอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัดโดยพบว่า คุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านเงื่อนไขคุณธรรมยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เงื่อนไขความรู้ ความมีเหตุผล ความพอประมาณ ตามลำดับ
4.3 ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อการดำเนินงานกิจกรรมโครงการพบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด และอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด
ผลการประเมินโครงการในภาพรวมพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการดำเนินงานตามโครงการต่อไป ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างจริงจัง มีการกำกับติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ ของโครงการ