ชื่อเรื่อง ผลของการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับชุดการเรียนรู้ ที่มีต่อ
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจ เรื่อง การดูแลรักษาสุขภาพและร่างกาย
กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางจันธิรา ผาปรางค์
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับชุดการเรียนรู้ เรื่อง การดูแลรักษาสุขภาพและร่างกาย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ให้มีประสิทธิภาพ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับชุดการเรียนรู้ เรื่อง การดูแลรักษาสุขภาพและร่างกาย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ประชากรที่ใช้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 2 “รัชมังคลานุสรณ์” โรงเรียนเทศบาล 3 (เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา) และโรงเรียนเทศบาล 6 มิ่งเมือง สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองศรีสะเกษ จำนวน 71 คน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 6 มิ่งเมือง สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองศรีสะเกษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 14 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับชุดการเรียนรู้ 2) ชุดการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่มีค่าความยากง่าย (p) ตั้งแต่ 0.37 - 0.77 ค่าอำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ 0.22 - 0.67 และค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.76 และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ ที่มีค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.40 - 0.69 และค่าความเชื่อมั่น ของแบบสอบถาม เท่ากับ 0.83 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. แผนการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับชุดการเรียนรู้ เรื่อง การดูแลรักษาสุขภาพและร่างกาย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 85.65/84.52 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80
2. นักเรียนที่เรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับ ชุดการเรียนรู้ เรื่อง การดูแลรักษาสุขภาพและร่างกาย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับชุดการเรียนรู้ เรื่อง การดูแลรักษาสุขภาพและร่างกาย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด ( = 4.59, S.D. = 0.49)