ชื่อผลงานทางวิชาการ : รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนชุมชนบ้านแม่สูนหลวง
โดยใช้รูปแบบ CIPP Model
ชื่อผู้ศึกษา : นางสาวสิราลักษณ์ ธนะเกียรติกุล
ปีการศึกษา : 2561
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนชุมชนบ้านแม่สูน โดยใช้รูปแบบ CIPP Model ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนชุมชนบ้านแม่สูนหลวง อำเภอฝาง โดยประเมิน 4 ด้าน คือ ด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process)ด้านผลผลิต (Product)และผลกระทบของโครงการ (Impact) กลุ่มประชากรที่ใช้ใน การวิจัยได้แก่ ครูผู้สอนโรงเรียนชุมชนบ้านแม่สูนหลวง อำเภอฝาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 26 คน และคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียน ผู้ปกครอง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถามที่ผู้รายงานได้พัฒนาขึ้น เป็นมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 7 ฉบับ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.85 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการประเมินด้านด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ โดยรวม โดยรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านหลักการ วัตถุประสงค์ เป้าหมายและนโยบายของโครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกัน มีค่าเฉลี่ยระดับการปฏิบัติสูงสุด รองลงมาคือ ด้านการกำหนด เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ของโครงการ มีความเหมาะสมและปฏิบัติได้จริง และด้านโครงการนิเทศภายในของโรงเรียนมีความสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและชุมชน) ตามลำดับ
2. ผลการประเมินด้านความพร้อมปัจจัยนำเข้าในการดำเนินงานตามโครงการโดยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษาให้การสนับสนุนในการดำเนินโครงการ มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติสูงสุด รองลงมาคือ บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติกิจกรรมการนิเทศภายใน และมีวัสดุ อุปกรณ์ สื่อและเทคโนโลยีที่ใช้อย่างเพียงพอ ตามลำดับ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการการดำเนินงานตามโครงการ พบว่า ขั้นเตรียมการนิเทศภายใน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ขั้นดำเนินการนิเทศภายใน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ขั้นการติดตามและประเมินผลการนิเทศภายใน โดยรวมอยู่ในระดับมาก ขั้นนำผลการประเมินมาพัฒนาและปรับปรุงงานการนิเทศภายใน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการวิเคราะห์ผลผลิตของโครงการ พบว่า ด้านผลการประเมินผลผลิตของโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีการวิเคราะห์ปัญหาความต้องการในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติสูงสุด รองลงมาคือ เลือกวิธีการ นวัตกรรมในการแก้ปัญหาหรือ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ได้อย่างเหมาะสมกับผู้เรียน และมีการจัดทำรายงานการวิจัยนำผลการวิจัยไปใช้ในการวางแผนพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแก้ปัญหาให้กับผู้เรียน ตามลำดับ
5. ผลการวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการ โดยรวม อยู่ใน ระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า การจัดนิทรรศการทำให้ครู มีความกระตือรือร้น มีความรู้ ในการนำไปปฏิบัติงาน มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติสูงสุด รองลงมาคือ การนิเทศงานวิชาการช่วยส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอนและช่วยให้ครูมีความมั่นใจในการสอนมากขึ้น และการนิเทศงานวิชาการช่วยให้ครูยอมรับความสามารถซึ่งกันและกัน ตามลำดับ
6. ผลการวิเคราะห์ผลความพึงพอใจของนักเรียนต่อการจัดการเรียนการสอน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนด้วยความตั้งใจเต็มเวลาและเต็มความสามารถ มีค่าเฉลี่ยความคิดเห็นสูงสุด รองลงมาคือ นักเรียนสรุปองค์ความรู้ด้วยตนเอง และครูสร้างความสัมพันธ์/บรรยากาศในห้องให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ตามลำดับ
7. ผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองนักเรียนต่อการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการของคณะผู้บริหารโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยความคิดเห็นสูงสุด รองลงมาคือ ผู้บริหารโรงเรียนเอาใจใส่และมุ่งมั่นในการดูแลนักเรียน อย่างทั่วถึง และนักเรียนมีโอกาสศึกษาหาความรู้และข้อมูลข่าวสารจาก แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามลำดับ
จากดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียนดังข้างต้นส่งผลให้ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยของปีการศึกษา 2561 สูงกว่าปีการศึกษา 2560 ได้แก่ กลุ่มสาระภาษาไทย
ผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2561 กลุ่มสาระที่คะแนนเฉลี่ยมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นได้แก่ สาระภาษาไทย สาระคณิตศาสตร์และสาระภาษาอังกฤษ
ผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2561 กลุ่มสาระที่คะแนนเฉลี่ยมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นทุกสาระ ได้แก่ สาระภาษาไทย สาระคณิตศาสตร์ สาระภาษาอังกฤษและสาระวิทยาศาสตร์