บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นรายงานการใช้แบบฝึกเพื่อแก้ปัญหานักเรียนอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยบกพร่องตามหลักการอ่าน มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) เพื่อศึกษาปัญหาการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยบกพร่อง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านบุ่งง้าว (2) เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักการอ่าน และ (3) เพื่อศึกษาผลการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักการอ่าน การศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย
3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาปัญหาการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยบกพร่อง ของนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 โรงเรียนบ้านบุ่งง้าว ตำบลแวงดง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 2 เป็นการสำรวจความบกพร่องในการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านบุ่งง้าว จำนวน 11 คน เครื่องมือที่ใช้
ในการสำรวจเป็นแบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักการอ่าน
ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักการอ่าน ผู้รายงานพัฒนาขึ้นตามรายการปัญหาที่พบจากการศึกษา ในขั้นตอนที่ 1 แต่ละปัญหาประกอบด้วยแบบฝึก 10 ชุด แต่ละชุดมี 2 แบบ คือ แบบฝึกสำหรับนักเรียนใช้ฝึกอ่านออกเสียงคำและแบบฝึกใช้สำหรับครูเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการอ่านออกเสียงคำของนักเรียน
ทั้ง 2 แบบฝึกนี้มีเนื้อหาเหมือนกัน
ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักการอ่าน ขั้นตอนนี้เป็นการทดลองใช้แบบฝึกที่ผู้รายงานพัฒนาขึ้นในขั้นตอนที่ 2 ดำเนินการทดลองโดยใช้แบบแผนการทดลอง แบบ Randomized Control Group Pretest-Posttest กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 โรงเรียนบ้านบุ่งง้าว ปีการศึกษา 2550 ที่เป็นนักเรียนในโครงการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ
11 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักการอ่าน และแบบทดสอบก่อนและหลังการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักการอ่าน ที่ผู้รายงานพัฒนาขึ้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความบกพร่องในการอ่านออกเสียงคำ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) สถิติที่ใช้ในการทดสอบความแตกต่างของคะแนนความบกพร่องการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ก่อนและหลังทดลองใช้สถิติ t-test Independent Samples
ผลการทดลองสรุปได้ว่า นักเรียนมีความบกพร่องในการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทย
ไม่ถูกต้องตามหลักการอ่านมากที่สุด 8 รายการปัญหา เรียงตามลำดับดังนี้ (1) การอ่านออกเสียงคำที่เป็นคำควบกล้ำไม่ถูกต้อง (2) การอ่านออกเสียงคำที่มีตัวสะกดแม่กดไม่ตรงมาตราไม่ถูกต้อง (3) การอ่านออกเสียงคำที่เป็นอักษรนำไม่ถูกต้อง (4) การอ่านออกเสียงคำที่มีสระ-ะ ไม่เป็นอักษรนำไม่ถูกต้อง (5) การอ่านออกเสียงคำที่มีเสียงสระ อ ในพยัญชนะต้นไม่ถูกต้อง (6) การอ่านออกเสียงคำที่มาจากภาษาอื่นไม่ถูกต้อง (7) การอ่านออกเสียงคำที่มีตัว ฤ ไม่ถูกต้อง และ (8) การอ่านออกเสียงคำที่มีตัว ทร ไม่ถูกต้อง ผู้รายงานจึงดำเนินการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักการอ่าน 8 รายการปัญหาดังกล่าว พร้อมด้วยแบบทดสอบก่อนและหลังการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียง หลังจากนั้นจึงทำการทดลองใช้แบบฝึก ผลการทดลองพบว่า ค่าเฉลี่ยความบกพร่องการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองหลังการทดลอง แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และค่าเฉลี่ยความบกพร่องการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยไม่ถูกต้องตามหลักการอ่านของกลุ่มทดลองก่อนและหลังการทดลอง แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความบกพร่องการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยของกลุ่มทดลองแต่ละครั้ง ตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึง ครั้งที่ 10 พบว่า ภายหลังการทดลองแต่ละครั้งค่าเฉลี่ยความบกพร่องการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยไม่ถูกต้องของกลุ่มทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01