ผู้วิจัย นางสาวเพ็ญศรี ศรีนุศร ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองใหญ่ สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่พิมพ์ ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน(PBL) เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่องการสรุปใจความสำคัญ 2) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการสอนเรียนวิชาภาษาไทยโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน(PBL)เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่5 เรื่องการสรุปใจความสำคัญ การวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองใหญ่สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ภาคเรียนที่2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 34 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน(PBL) เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านจับใจความ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติการสอนของครู ได้แก่ แบบบันทึกเหตุการณ์ขณะทำการสอนของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการสอนของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน และแบบทดสอบย่อยหลังเรียนวัดทักษะการจับใจความ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการสอน ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านจับใจความ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t–test) แบบ Dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1.รูปแบบการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่องการสรุปใจความสำคัญ มีชื่อว่า OPC Model มีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระความรู้ทักษะกระบวนการ สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม สิ่งสนับสนุน และหลักการตอบสนอง ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนมี 3 ขั้นตอน คือ 1)ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน (Orientation : O) 2)ขั้นเผชิญสถานการณ์ปัญหา (Problem : P) 3)ขั้นสร้างความรู้/จับใจความ (Construction : C) และรูปแบบการสอน ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.62/85.14 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. นักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการสอนปัญหาเป็นฐาน(PBL) เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่องการสรุปใจความสำคัญ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.ทักษะการจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 85.29 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อรูปแบบการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านจับใจความ มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด