ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนา
การจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน
โรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน จังหวัดเชียงใหม่
ผู้วิจัย นางเบญจรัตน์ เมธะปัญญา
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนรู้ และความต้องการในการพัฒนาตนเองของครูโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน 2) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบชุมชนแห่ง การเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน ประชากรที่ใช้ในการวิจัยในปีการศึกษา 2561 คือ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน ครู จำนวน 22 คน และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา จำนวน 239 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกการประชุมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ แบบประเมินคุณภาพของรูปแบบ แบบบันทึก การสนทนากลุ่ม แบบประเมินคุณภาพการจัดการเรียนรู้ แบบสอบถามความคิดเห็นของครูที่มีต่อการเข้าร่วมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ แบบทดสอบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แบบประเมินผลงานนักเรียน และแบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นของนักเรียน เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ของครู วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความถี่ ร้อยละ และ การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
การพัฒนารูปแบบการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน จังหวัดเชียงใหม่ สรุปผลการวิจัยได้ ดังนี้
1) สภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนรู้ พบว่า ครูส่วนใหญ่เป็นครูรุ่นใหม่ ยอมรับข้อตกลงร่วมกัน แต่ผู้เรียนขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ วิธีการสอนของครูไม่หลากหลาย ครูมีความต้องการพัฒนาเกี่ยวกับเทคนิคการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ แรงจูงใจ และการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้
2) รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์มี 3 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 หลักการชุมชน แห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ องค์ประกอบที่ 2 กระบวนการ และองค์ประกอบที่ 3 การติดตามประเมินผล ผลการตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบ พบว่า มีคุณภาพด้านความเป็นไปได้ ความเหมาะสม ความถูกต้อง ความครอบคลุม และความเป็นประโยชน์ในระดับมากที่สุดทุกด้าน
3) ครูส่วนใหญ่มีผลการประเมินคุณภาพการจัดการเรียนรู้หลังการเข้าร่วมสูงกว่าก่อน
การเข้าร่วม
4) ครูส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าหลังการเข้าร่วมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ทำให้ครูเกิดความเข้าใจในกระบวนการ และเทคนิคการสอนที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์
5) นักเรียนทุกระดับชั้นมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน คะแนนเฉลี่ยผลการประเมินผลงานนักเรียน มีคุณภาพอยู่ในระดับดีขึ้นไป นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความสนุกในการเรียน ได้ทำงานเป็นกลุ่ม การสอนของครูไม่น่าเบื่อ มีความตื่นเต้น ครูใจดี นักเรียนได้คิดและเขียนสรุปด้วยตนเอง และได้เดินสำรวจรอบโรงเรียน