ชื่อเรื่อง การจัดประสบการณ์ที่ใช้ชุดกิจกรรมฝึกทักษะคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐาน
ทางคณิตศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 โรงเรียนบึงเขาย้อน (คงพันธุ์อุปถัมภ์)
ผู้วิจัย นางสาวปราณิศา โสมรัตนานนท์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ชำนาญการ
ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนบึงเขาย้อน (คงพันธุ์อุปถัมภ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานีเขต 1
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้ชุดกิจกรรมฝึกทักษะคณิตศาสตร์ 2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 โรงเรียนบึงเขาย้อน (คงพันธุ์อุปถัมภ์) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้ชุดกิจกรรมฝึกทักษะคณิตศาสตร์ การครั้งนี้เป็นการศึกษากึ่งทดลอง (Quasi - Experimental Design) มีกลุ่มทดลอง กลุ่มเดียว มีการวัดก่อนเรียนและหลังเรียนในรูปแบบที่เรียกว่า One Group Pretest Posttest Design กลุ่มเป้าหมายในการศึกษา ครั้งนี้ คือ เด็กชาย – เด็กหญิง ที่มีอายุระหว่าง 4 – 5 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 โรงเรียนบึงเขาย้อน (คงพันธุ์อุปถัมภ์) ตำบลคลอง 4 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 23 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบึงเขาย้อน (คงพันธุ์อุปถัมภ์) โดยการจัดประสบการณ์ที่ใช้ชุดกิจกรรมฝึกทักษะคณิตศาสตร์ จำนวน 4 ชุด ชุดละ 10 แผน รวมทั้งหมด 40 แผน 2) ชุดกิจกรรมฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 4 ชุด ชุดละ 10 กิจกรรม 3) แบบประเมินทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ก่อนและหลัง สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการคำนวณหาค่า ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่า t - test Dependent Samples
ผลการวิจัย พบว่า
1. การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 โรงเรียนบึงเขาย้อน (คงพันธุ์อุปถัมภ์) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ภายหลังการจัดประสบการณ์ที่ใช้ชุดกิจกรรมฝึกทักษะคณิตศาสตร์ในภาพรวม สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. ผลการเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กอนุบาล 2/1 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้ชุดกิจกรรมฝึกทักษะคณิตศาสตร์รายด้านพบว่า ระดับทักษะทางคณิตศาสตร์ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการบอกตำแหน่ง ด้านการวัด ด้านการรู้ค่าตัวเลข 1-5 ด้านการเปรียบเทียบ เพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05