การประเมินโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านยางโทน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรีเขต 2 โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของการดำเนินโครงการ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ของโครงการ ความเหมาะสมของกิจกรรมในการดำเนินโครงการ และความสอดคล้องของนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าเกี่ยวกับบุคลากรของสถานศึกษา งบประมาณ สถานที่ สื่อและแหล่งเรียนรู้ 3) เพื่อประเมินกระบวนการ เกี่ยวกับ การวางแผน การดำเนินงาน การนิเทศ ติดตาม การประเมินผล และการปรับปรุงแก้ไข 4) เพื่อประเมินผลผลิต เกี่ยวกับประสิทธิผลการดำเนินโครงการ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน และความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านยางโทนในปีการศึกษา 2561 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 120 คน ประกอบด้วย 1) ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน 2) ครู จำนวน 17 คน 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 50 คน 4) ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 46 คน 5) กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 9 ฉบับ
การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมินพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นทุกตัวชี้วัดและภาพรวมของโครงการดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้แก่ ความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด รองลงมาคือด้านความเหมาะสมของกิจกรรม ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ และความต้องการจำเป็นของโครงการ ตามลำดับ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ สถานที่ รองลงมา คือ งบประมาณ บุคลากรของสถานศึกษา สื่อและแหล่งเรียนรู้ ตามลำดับ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านประเมินผล ด้านการวางแผน ด้านการปรับปรุงแก้ไข ด้านการดำเนินงาน และ ด้านนิเทศติดตาม ตามลำดับ
4.ผลการประเมินผลผลิตของโครงการ ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน รองลงมาคือ ด้านความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง และด้านประสิทธิผลการดำเนินโครงการ ตามลำดับ
ผลการประเมินโครงการในภาพรวมพบว่า โครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านยางโทน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 อยู่ในระดับมากที่สุด
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากผู้ที่ให้ข้อมูล คือ นักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียนผู้ปกครองและกรรมการสถานศึกษาขั้นฐาน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการจัดการศึกษาตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากส่งเสริมให้บุคคลมีความรู้ความคิด มีปัญญา มีวิธีคิด รู้จริง รู้แจ้ง รู้ตลอด รู้เท่าทันตามเหตุผลความเป็นจริง รู้จักคิดวิเคราะห์ บูรณาการองค์ความรู้ ค้นพบทางเลือกเพื่อประยุกต์สู่การปฏิบัติ เกิดทักษะนำไปสู่การดำรงชีวิตที่เหมาะสมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้บุคคลมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ ความเข้าใจในคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม มีเจตคติที่ดี มีทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผลเชิงคุณธรรม จริยธรรม มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดำรงชีวิตอยู่บนพื้นฐานความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจ มีวินัย มีความอดทน อดกลั้น อดออม มีความขยันหมั่นเพียร เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวมและส่งเสริมให้บุคคลมีความรู้ ความเข้าใจทักษะในการแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบ พึ่งตนเองได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพของสังคม ยุคสมัยและศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งวิธีการที่จะดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือ จากทุกภาคส่วน วางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยจัดการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพผู้เรียนตามลำดับ ความสามารถจากง่ายไปหายากตามระดับช่วงชั้น เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมและสมบูรณ์ทุกด้านตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการดำเนินงานตามโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างจริงจัง มีการกำกับติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
จากผลการประเมินโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านยางโทน ทั้ง 4 ด้าน คือด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ในด้านย่อยที่มีผลการประเมิน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวม ซึ่งผู้ประเมินได้จัดทำแนวทางการพัฒนาโดยการพิจารณาและให้คำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านยางโทน มีรายละเอียดดังนี้
1. ด้านบริบท
1.1 สถานศึกษาควรกำหนดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวปฏิบัติในวิถีปฏิบัติของทุกคนในสถานศึกษาเพื่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร
1.2 จัดกิจกรรมที่มีประโยชน์ครอบคลุมทุกด้าน สร้างความสมดุลให้ชีวิต สอดคล้องกับความต้องการของครูและนักเรียน เพื่อให้ร่วมกันปฏิบัติจนเกิดทักษะ ตระหนักในคุณค่าและยึดถือปฏิบัติจนเป็นนิสัย ด้วยความภาคภูมิใจ
1.3 การกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการต้องคำนึงถึงความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครอง
2. ด้านปัจจัยนำเข้า
2.1 กำหนดโครงสร้างงานที่ชัดเจน ระบุภารกิจ หน้าที่แก่คณะกรรมการบริหารโครงการ โดยร่วมกันจัดทำคู่มือการบริหารโครงการ
2.2 ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการ มีส่วนร่วมในการประสานงานกับชุมชน องค์กรและหน่วยงานอื่นๆเพื่อสร้างเครือข่าย ประชาสัมพันธ์ และขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ
2.3 ในการดำเนินโครงการต้องเตรียมสื่อและแหล่งเรียนรู้ให้ครอบคลุมการจัดกิจกรรมตามโครงการ โดยคำนึงถึงความหลากหลาย เพียงพอต่อสมาชิกผู้ร่วมโครงการ
3. ด้านกระบวนการ
3.1 ร่วมกันจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาโดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในหลักสูตร และการจัดกระบวนการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระวิชา รวมถึงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่งเสริมและกำกับติดตามให้นักเรียนนำกิจกรรมตามโครงการไปใช้ในชีวิตประจำวัน
3.2 คณะกรรมการบริหารโครงการต้องกำหนดปฏิทินปฏิบัติงาน การนิเทศกำกับติดตาม มอบหมายผู้รับผิดชอบ นิเทศติดตาม ตามที่กำหนดโดยใช้เครื่องมือหลากหลาย และจัดทำรายงานผลการนิเทศเพื่อรายงานแก่ผู้เกี่ยวข้องทราบ
4. ด้านผลผลิต
4.1 เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินโครงการ ผู้บริหารต้องกำกับติดตามให้มีการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด ตามกำหนดเวลา กิจกรรม โครงการ ตามแผนปฏิบัติงานประจำปีอย่างสมบูรณ์ ครบถ้วน
4.2 ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ครูต้องยึดถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ในกิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนได้ปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัยที่ดีงาม
4.3 ในการจัดกิจกรรมสำหรับผู้เรียน มุ่งเน้นให้เกิดความตระหนักในหลักปฏิบัติ การดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง จัดกิจกรรมครบถ้วนตามกระบวนการ ประเมินผล แก้ปัญหาช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในทุกกิจกรรม