ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้หนังสือภาพ
ประกอบคำคล้องจอง ชั้นอนุบาลปีที่ 3
ผู้ศึกษา นางสาวสาวิตรี ปามั่น
ปีการศึกษา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
ทักษะทางคณิตศาสตร์ เป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การเรียนของเด็กโดยอาศัยสถานการณ์ ในชีวิตประจำวันให้เด็กสนใจและตื่นตัวที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความสุข เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับ
การพัฒนาด้านต่าง ๆ ของเด็กต่อไป ผู้ศึกษาจึงได้เลือกพัฒนาหนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง
เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง ชั้นอนุบาลปีที่ 3 2) เพื่อศึกษาผล การใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 3) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของหนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ก่อนจัดประสบการณ์ และหลังจัดประสบการณ์ ชั้นอนุบาลปีที่ 3 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนชุมชนบ้านทุ่งโพธิ์ โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 29 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนชุมชนบ้านทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ จำนวน 8 เรื่อง แบบสังเกตพฤติกรรมพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 5 ชุด
แบบประเมินพัฒนาการทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ จำนวน 5 ชุด และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่มีต่อหนังสือภาพประกอบคำคล้องเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สถิติที่ใช้ คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดัชนีประสิทธิผล ผลการศึกษา พบว่า
1. หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ มีคุณภาพในระดับเหมาะสมมากที่สุด กล่าวคือ ผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน โดยมีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 5 ด้าน เท่ากับ 4.85 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมมากที่สุด
2. นักเรียนอนุบาลชั้นปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง นักเรียนมีทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ อยู่ในระดับมาก ทุกด้าน คือ ด้านทักษะการรู้จำนวน ทักษะการสังเกต ทักษะการจับคู่ความสัมพันธ์ ทักษะการเปรียบเทียบและด้านทักษะการเรียนลำดับ (ตามขนาดและปริมาตร) โดยมีค่าเฉลี่ย 2.85, 2.81, 2.78, 2.85 และ 2.76 ตามลำดับ เมื่อรวมเฉลี่ยทุกด้านมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.81 ซึ่งอยู่ในระดับมาก
3. ดัชนีประสิทธิผลของหนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ก่อนจัดประสบการณ์ และหลังจัดประสบการณ์ของนักเรียน โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง พบว่า นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีคะแนนความก้าวหน้าทักษะพื้นฐาน ทางคณิตศาสตร์ มีค่าเท่ากับ 0.779 ซึ่งแสดงว่านักเรียนมีพัฒนาการทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์สูงขึ้น ร้อยละ 77
4. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อหนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง
อยู่ในระดับพึงพอใจมากทุกเรื่องซึ่งมีมีค่าเฉลี่ยโดยรวม เท่ากับ 2.85
โดยสรุปการพัฒนาหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ส่งผลให้นักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ดีขึ้น ดังนั้นผู้ศึกษาจึงขอเสนอแนวทางให้ครูได้พัฒนาการจัดประสบการณ์ที่ใช้สื่อ และวิธีการที่หลากหลายและเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ