ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนบ้านนาโพธิ์
(ครุราษฎร์สามัคคี) โดยรูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP model)
ผู้วิจัย ชาตรี สุทธวี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาโพธิ์(ครุราษฎร์สามัคคี)
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในโรงเรียนบ้านนาโพธิ์(ครุราษฎร์สามัคคี) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1โดยใช้การประเมินผลรูปแบบ CIPP Model กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหารจำนวน 1 คน ครูผู้สอนจำนวน 5 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 57 คน ผู้ปกครองจำนวน 57 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 คน รวมทั้งสิ้น 127 คน ในปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนบ้านนาโพธิ์(ครุราษฎร์สามัคคี) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์และแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนบ้านนาโพธิ์(ครุราษฎร์สามัคคี) ลักษณะเป็นแบบสอบถาม 2 ฉบับ มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 ใช้สอบถามความคิดเห็นนักเรียน ใช้สอบถาม 3 ด้าน คือ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต จำนวน 33 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.30 0.83 และมีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ เท่ากับ .75 ฉบับที่ 2 ใช้สอบถามความคิดเห็นผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานใช้สอบถาม 3 ด้าน คือ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต จำนวน 20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.41 0.79 และมีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ เท่ากับ .78 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือใช้สถิติเชิงพรรณนา คือ ค่าเฉลี่ยร้อยละ (xˉ ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ด้านบริบท (Context ) วัตถุประสงค์ของโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
รูปแบบการดำเนินงานมีความชัดเจนเข้าใจง่ายสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ความพร้อมของการจัดเตรียมทรัพยากรด้านต่างๆ ที่นำมาใช้
สำหรับการดำเนินงานโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
2.1 ด้านความคิดเห็นของนักเรียน มีค่าเฉลี่ย = 4.64
2.2 ด้านความคิดเห็นของผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ย = 4.83
3.ด้านกระบวนการ(Process)การดำเนินงานของโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
3.1 ด้านความคิดเห็นของนักเรียน มีค่าเฉลี่ย = 4.84
3.2 ด้านความคิดเห็นของผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ย = 4.81
4. ด้านผลผลิต (Product) ผลที่เกิดขึ้นกับผู้ร่วมโครงการในด้านคุณลักษณะและ
ความสามารถเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
4.1 ด้านความคิดเห็นของนักเรียน มีค่าเฉลี่ย = 4.78
4.2 ด้านความคิดเห็นของผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ย = 4.77
โดยสรุป บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับโครงการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนบ้านนาโพธิ์(ครุราษฎร์สามัคคี) มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งข้อสนเทศที่ได้จะเป็นประโยชน์ ต่อผู้เกี่ยวข้องในการปรับปรุงการจัดโครงการและกิจกรรมอื่นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป