บทสรุปผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) สำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 ปีการศึกษา 2561 ครั้งนี้ ประเมินโดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) โดยแบ่งการประเมินโครงการออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product)
วัตถุประสงค์ของการประเมิน เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) ปีการศึกษา 2561 ในประเด็นต่อไปนี้
1. ด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ)
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ)
3. ด้านกระบวนการของโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ)
4. ด้านผลผลิตของโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ)
กลุ่มตัวอย่างในการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) ปีการศึกษา 2561 ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 4 คน และนักเรียนจำนวน 32 คน รวมทั้งหมด 36 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมี 5 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 แบบสอบถามประเมินด้านสภาวะแวดล้อมของครูผู้สอน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.87 ฉบับที่ 2 แบบสอบถามประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของครูผู้สอน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.90 ฉบับที่ 3 แบบสอบถามประเมินด้านกระบวนการของครูผู้สอน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.88 ฉบับที่ 4 แบบสอบถามประเมินด้านผลผลิตของครูผู้สอน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 และฉบับที่ 5 แบบสอบถามประเมินด้านผลผลิตของนักเรียน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ผลการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) ในปีการศึกษา 2561 ปรากฏผลดังนี้
1. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) ในปีการศึกษา 2561 ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและนักเรียนโดยรวมทั้ง 4 ด้านอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.35, S.D = 0.60)
2. ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อม (Context) พบว่า ครูผู้สอน มีระดับความคิดเห็นในด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) ในปีการศึกษา 2561 โดยรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.33, S.D = 0.67)
3. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) พบว่า ครูผู้สอน มีระดับความคิดเห็นในด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) ในปีการศึกษา 2561 โดยรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.31, S.D = 0.60)
4. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process) พบว่า ครูผู้สอน มีระดับความคิดเห็นในด้านกระบวนการของโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) ในปีการศึกษา 2561 โดยรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.36, S.D = 0.59)
5. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product) พบว่า ครูผู้สอน มีระดับความคิดเห็นในด้านผลผลิตของโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) ในปีการศึกษา 2561 โดยรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.37, S.D = 0.56)
6. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product) พบว่า นักเรียน มีระดับความคิดเห็นในด้านผลผลิตของโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) ในปีการศึกษา 2561 โดยรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.40, S.D = 0.54)
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะทั่วไป
จากการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) ปีการศึกษา 2561 มีข้อเสนอแนะดังนี้
1.1 ด้านสภาวะแวดล้อม (Context) การดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านมีการกำหนดกลยุทธ์ การวางแผนและมอบหมายหน้าที่ให้กับผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมที่ชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายในการส่งเสริมรักการอ่าน มีการประเมินโครงการเพื่อนำผลมาปรับปรุงโครงการส่งเสริมรักการอ่านอย่างต่อเนื่อง
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) การดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านควรมีส่วนร่วมจากนักเรียน ครูผู้สอน ในการสั่งซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ห้องสมุดในโรงเรียน จัดหาทรัพยากรในห้องสมุด ทรัพยากรสารสนเทศ สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยและรักษาให้มีสภาพพร้อมใช้งานโดยให้สอดคล้องกับรายวิชาที่จัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
1.3 ด้านกระบวนการ (Process) การดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านมีแผนการดำเนินงานตามโครงการอย่างชัดเจน ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียนจะต้องมีการวางแผนกำหนดกิจกรรมเป็นข้อตกลงร่วมกัน และร่วมกันปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจ มีการนิเทศ กำกับติดตาม และประเมินผลในการดำเนินงานของโครงการอย่างเป็นระบบ ควรมีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านต่อผู้ปกครอง ชุมชน และสาธารณะชน และให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการ
1.4 ด้านผลผลิต (Product) การดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านสามารถดำเนินโครงการจนบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และนอกจากการดำเนินตามโครงการแล้ว ครูผู้สอนควรส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ของโครงการส่งเสริมรักการอ่านด้วยการบูรณาการโครงการส่งเสริมรักการอ่านอย่างต่อเนื่องทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้จนนักเรียนสามารถอ่านหนังสือคล่อง สามารถอ่านข่าวสาร เอกสารต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้และควรเผยแพร่ผลงานผลผลิต ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ได้จากโครงการส่งเสริมรักการอ่านแก่ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้ทราบอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินโครงการครั้งต่อไป
จากการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โรงเรียนวัดโคกศักดิ์ (เซี้ยนประชารัฐ) ปีการศึกษา 2561 มีข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินโครงการครั้งต่อไป ดังนี้
2.1 ควรมีการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียนในทุก ๆ ปี เพื่อนำผลการประเมินมาปรับปรุงและพัฒนาโครงการให้ดีขึ้นต่อไป
2.2 ควรจัดประกวดกิจกรรรมโครงการส่งเสริมรักการอ่าน ระดับกลุ่มโรงเรียนและระดับเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อให้มีการจัดกิจกรรมแข่งขันทักษะทางวิชาการด้านการส่งเสริมการอ่านร่วมกันระหว่างนักเรียนทุกระดับ
2.3 ควรประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่าน โดยใช้รูปแบบการประเมินอื่น ๆ นอกจาก CIPP Model เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการประเมิน