กิจกรรมที่ 1
กายสัมผัส
สาระสำคัญ
การจัดประสบการณ์ด้วยการสืบเสาะหาความรู้โดยวิธีการจัดประสบการณ์แบบการสนทนาและอภิปรายซักถาม และการใช้คำถามในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยประสาทสัมผัสทางกาย ช่วยส่งเสริมทักษะการสังเกต ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล และทักษะการลงความคิดเห็นจากข้อมูล
จุดประสงค์
1. เพื่อให้เด็กสามารถบอกลักษณะของสิ่งต่าง ๆ จากการสังเกตด้วยการสัมผัสและการดูได้ (ทักษะการสังเกต)
2. เพื่อให้เด็กสามารถสนทนาโต้ตอบ/นำเสนอข้อมูลที่ได้จากการสังเกตด้วยประสาทสัมผัสทางกาย/ผิวหนังให้ผู้อื่นเข้าใจได้โดยการพูดและการวาดภาพ (ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล)
3. เพื่อให้เด็กสามารถเพิ่มเติม/แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้จากการสังเกตได้ด้วยตนเอง (ทักษะการลงความคิดเห็นจากข้อมูล)
สื่อ/แหล่งเรียนรู้
1. ตะกร้าบรรจุสิ่งของต่าง ๆ จำนวน 10 ชิ้น ได้แก่ ลูกเทนนิส ลูกปิงปอง มะกรูด ฟองน้ำ
ไม้บล็อกสี่เหลี่ยม ไม้บล็อกสามเหลี่ยม ผ้าขนหนู กระดาษสี ดินสอ สีเทียน
2. ผ้า/ถุงดำคลุมตะกร้า
3. ใบบันทึกกิจกรรม
4. สีเทียน/สีไม้/ดินสอ
ระยะเวลาที่ใช้
ใช้เวลา 20 นาที
วิธีการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์
1. การสนทนาและอภิปรายซักถาม
2. การใช้คำถาม
ขั้นตอนการจัดประสบการณ์
ขั้นการมีส่วนร่วมในคำถาม
1. ครูจัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆ จำนวน 10 ชิ้น บรจุลงในตะกร้า และใช้ผ้า/ถุงดำคลุมไว้โดยไม่ให้เด็กมองเห็น นำมาให้เด็กดูและใช้คำถาม ดังนี้
- เด็ก ๆ สงสัยหรืออยากรู้อะไรเกี่ยวกับตะกร้าใบนี้บ้าง
2. ครูกระตุ้นให้เด็กตอบคำถามและจดบันทึกคำถามของเด็ก จากนั้นเด็กและครูร่วมกันสรุปคำถามที่เด็กอยากรู้/สงสัยมากที่สุดว่าคือคำถามอะไรบ้าง
3. ครูชี้แจงว่า ถ้ายังไม่ให้เปิดดู เด็กๆ หาคำตอบได้อย่างไร แล้วให้เด็กๆ ช่วยกันคิดวิธีการหาคำตอบ
4. ครูสรุปวิธีการหาคำตอบของเด็กๆ
ขั้นการเก็บหลักฐานข้อมูล
5. ครูนำเสนอวิธีการหาคำตอบที่ครูกำหนดไว้ดังนี้
5.1 ให้เด็ก ๆ ใช้มือล้วงเข้าไปสัมผัสิ่งของในตะกร้า บอกลักษณะที่สังเกตพบ
5.2 สมาชิกในกลุ่มร่วมกันลงความคิดเห็นว่าคือสิ่งใดแล้วจึงนำสิ่งของนั้นออกมาให้เพื่อนดู
5.3 หมุนเวียนเพื่อนในกลุ่มปฏิบัติกิจกรรมเช่นนี้จนครบทุกคนและครบสิ่งของทั้ง 10 ชิ้น
6. แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน ตัวแทนกลุ่มออกไปรับตะกร้ากลุ่มละ 1 ตะกร้า
7. ให้เด็กคนที่ 1 ใช้มือล้วงเข้าไปสัมผัสิ่งของในตะกร้า บอกลักษณะที่สังเกตพบ ถ้าเด็กบอกไม่ได้ ให้ครูใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กสังเกตและบอกเกี่ยวกับลักษณะของรูปร่าง รูปทรง ผิวสัมผัส ดังนี้
- สิ่งของนั้นมีรูปร่างรูปทรงอย่างไร
- สิ่งของนั้นเป็นวงกลม/ทรงกลม/รูปสามเหลี่ยม/ทรงสามเหลี่ยม/รูปสี่เหลี่ยม/
ทรงสี่เหลี่ยม/ทรงกระบอก ฯลฯ
- สิ่งของนั้นมีผิวสัมผัสอย่างไร
- สิ่งของนั้นมีผิวสัมผัสนิ่ม/แข็ง/เรียบ/ขรุขระ/ร้อน/เย็น ฯลฯ
8. สมาชิกในกลุ่มร่วมกันลงความคิดเห็นว่าคือสิ่งใดแล้วจึงนำสิ่งของนั้นออกมาให้เพื่อนดู
9. สมาชิกในกลุ่มช่วยกันวาดภาพ/บอกคำตอบโดยให้ครูบันทึกคำตอบลงในใบกิจกรรม
10. หมุนเวียนเพื่อนในกลุ่มปฏิบัติกิจกรรมเช่นนี้จนครบทุกคนและครบสิ่งของทั้ง 10 ชิ้น
ขั้นการอธิบายสิ่งที่พบ
11. ให้เด็กร่วมกันอธิบายและสรุปลักษณะของสิ่งของทั้ง 10 ชนิด จากการสังเกตโดยใช้กายสัมผัสว่าค้นพบอะไรบ้าง
ขั้นการสื่อสารและให้เหตุผล
12. ครูใช้คำถามเพื่อให้เด็กร่วมกันสรุปข้อมูลที่ได้จากการค้นพบและร่วมกันสรุปกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ ดังนี้ - เด็ก ๆ ใช้ส่วนใดของร่างกายในการสัมผัสและรับรู้ลักษณะของสิ่งของในตะกร้า
- เมื่อเด็ก ๆ สัมผัสสิ่งของต่างๆ แล้ว เด็กๆ รู้/ได้ข้อมูลอะไรบ้าง
- เด็ก ๆ จะดูแลรักษาร่างกาย/มือ/ผิวหนังอย่างไรบ้างไม่ให้เกิดอันตราย
- ทำไมเด็ก ๆ จะต้องดูแลรักษาร่างกาย/มือ/ผิวหนัง
การวัดและประเมินผล
สังเกตพฤติกรรม/ความสามารถของเด็ก ดังนี้
1. การบอกลักษณะของสิ่งต่าง ๆ จากการสังเกตด้วยการสัมผัสและการดูได้
2. การสนทนาโต้ตอบ/นำเสนอข้อมูลที่ได้จากการสังเกตด้วยประสาทสัมผัสทางตาให้ผู้อื่นเข้าใจได้โดยการพูดและการวาดภาพ
3. การเพิ่มเติม/แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้จากการสังเกตได้ด้วยตนเอง