ชื่อเรื่อง : รายงานผลการใช้หนังสือเสริมประสบการณ์ประกอบบทบาทสมมติ
สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3
ผู้รายงาน : ฐิตาภา เอกา
ตำแหน่ง : ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านแสนขัน อำเภอทองแสนขัน
จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา อุตรดิตถ์ เขต 1
บทคัดย่อ
รายงานผลการใช้หนังสือเสริมประสบการณ์ประกอบบทบาทสมมติ สำหรับเด็กชั้นอนุบาล ปีที่ 3 นี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของหนังสือเสริมประสบการณ์ ประกอบบทบาทสมมติ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 และ 2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านการฟังและการพูดของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์ประกอบบทบาทสมมติ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นเด็กชาย–หญิง อายุระหว่าง 5-6 ปีที่กำลังศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านแสนขัน ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ ในการศึกษา ได้แก่ 1) หนังสือเสริมประสบการณ์ จำนวน 12 เล่ม 2) แผนการจัดประสบการณ์ การเรียนรู้โดยใช้หนังสือเสริมประสบการณ์ ในวันเรียนที่ 1 ถึง 3 ของหน่วยการเรียนรู้ จำนวน 36 แผน 3) แผนการจัดประสบการณ์ประกอบบทบาทสมมติ ในวันเรียนที่ 4 ถึง 5 ของหน่วยการเรียนรู้ จำนวน 24 แผน 4) แบบประเมินความสามารถด้านการฟังและการพูด จำนวน20 ข้อ และ 5) แบบสังเกตความสามารถด้านการฟังและการพูดระหว่างการใช้หนังสือ จำนวน 2 ข้อ ดำเนินการศึกษาใน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 เป็นเวลาต่อเนื่องกัน 12 สัปดาห์ ช่วงเวลา 10.10–10.30 น. ในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ จำนวน 60 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 20 ชั่วโมง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ โดยการหาค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และการทดสอบสมมุติฐานด้วยค่าที (t-test แบบ dependent)
ผลการศึกษาพบว่า
1. หนังสือเสริมประสบการณ์ประกอบบทบาทสมมติ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 86.94 / 84.00
2. ผลการเปรียบเทียบความสามารถด้านการฟังและการพูดของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ระหว่างก่อนและหลังเรียนด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์ประกอบบทบาทสมมติ พบว่าคะแนน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05