เรื่องที่ศึกษา : รายงานผลการพัฒนาการใช้แบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำที่มีตัวสะกด
ไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ผู้รายงาน : นางสาวศศิวิมล ประสม ครูชำนาญการ โรงเรียนแจ้คอนวิทยา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ. 2561
บทคัดย่อ
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ประชากรที่ทำการศึกษาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่กำลังศึกษาอยู่ในปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนโรงเรียนแจ้คอนวิทยา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง จำนวน 15 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เนื่องจากผู้ศึกษาเป็นครูประจำชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เรื่องการเขียนสะกดคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา จำนวน 20 แผน แบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา จำนวน 5 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ แบบ 3 ตัวเลือก และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน จำนวน 16 ข้อเป็นแบบมาตราส่วนประเมินค่า 5 ระดับ จำนวน 1 ฉบับ นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผู้ศึกษาได้ทำการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูล และใช้เครื่องมือในการศึกษาที่สร้างขึ้น
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพแบบฝึกทักษะแบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่สร้างขึ้นทั้ง 5 เล่ม พบว่า มีประสิทธิภาพ E1 /E2 เป็น 84.95/82.89 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะแบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2มีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนเท่ากับ 14.67 และคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 24.87เมื่อเปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนของผู้เรียน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
3. ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะแบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนแจ้คอนวิทยาพบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด จากการประเมินภาพรวมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.86 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้