อภัชนันท์ พากเพียร. 2561. การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. รายงานผลงานทางวิชาการ โรงเรียนแม่จันวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36.
บทคัดย่อ
รายงานการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างและพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียน โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 3) ศึกษาเจตคติของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ประชากรในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนแม่จันวิทยาคม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ปีการศึกษา 2561 จำนวน 329 คน เป็นชาย 144 คน หญิง 185 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนแม่จันวิทยาคม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ปีการศึกษา 2560 จำนวน 31 คน เป็นชาย 10 คน หญิง 21 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยเป็นนักเรียนที่มี ผลการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับ 1.5 ลงไป ขณะเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2560 การศึกษาใช้รูปแบบการทดลองแบบ One Group Pretest Posttest Design เครื่องมือที่ใช้การศึกษาประกอบด้วย แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ จำนวน 15 เล่ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 20 ข้อ และแบบสอบถามเจตคติของนักเรียน จำนวน 10 ข้อ
ผู้ศึกษาได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยนำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นไปทดสอบกับนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง บันทึกคะแนนที่ได้จากการทดสอบเป็นการทดสอบก่อนเรียน จากนั้นจึงดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย จำนวน 15 เล่ม โดยใช้เวลาในการสอน 15 ชั่วโมง ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จากนั้นผู้ศึกษาได้ดำเนินการทดสอบด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์หลังเรียน อีกครั้งหนึ่ง และให้นักเรียนตอบแบบสอบถามเจตคติที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย
สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ศึกษาได้นำข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมมาทำการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม Microsoft Excel โดยใช้ค่าสถิติ ดังนี้
1. หาค่าประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะ โดยหาค่า และเปรียบเทียบกับเกณฑ์ 80/80
2. เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียน (paired-sample t-test) โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย
3. หาค่าเจตคติของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ โดยหาค่าเฉลี่ย
( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S) แล้วทำการแปลผล โดยใช้เกณฑ์การแปลผล ดังนี้
ค่าเฉลี่ยระหว่าง 4.51 - 5.00 หมายถึง เห็นด้วยมากที่สุด
ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.51 4.50 หมายถึง เห็นด้วยมาก
ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.51 3.50 หมายถึง เห็นด้วยปานกลาง
ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.51 2.50 หมายถึง เห็นด้วยน้อย
ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 1.50 หมายถึง เห็นด้วยน้อยที่สุด
ผลการศึกษาสรุปได้ ดังนี้
1. แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ 83.33/82.22 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80 แสดงว่า แบบฝึกทักษะมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. นักเรียนมีเจตคติต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้ายกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.64