ชื่อเรื่อง รายงานการสร้างและพัฒนาชุดฝึกปฏิบัตินาฏศิลป์ เรื่อง ฟ้อนชมเมืองเพชรบูรณ์
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (นาฏศิลป์)
ผู้รายงาน นางกรรณิการ์ อยู่เชื้อ
ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพชุดฝึกปฏิบัตินาฏศิลป์
เรื่อง ฟ้อนชมเมืองเพชรบูรณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ(นาฏศิลป์) ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้ ชุดฝึกปฏิบัตินาฏศิลป์ เรื่อง ฟ้อนชมเมืองเพชรบูรณ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (นาฏศิลป์) ก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อประเมินทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์หลังได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ฟ้อนชมเมืองเพชรบูรณ์ กับเกณฑ์ร้อยละ 80 4) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ชุดฝึกปฏิบัตินาฏศิลป์ เรื่อง ฟ้อนชมเมืองเพชรบูรณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (นาฏศิลป์) กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย ชุดฝึกปฏิบัตินาฏศิลป์ เรื่อง ฟ้อนชมเมืองเพชรบูรณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ(นาฏศิลป์) จำนวน 4 เรื่อง รวม 4 เล่ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนและหลังเรียน อย่างละ 1 ฉบับ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 1 เล่ม แบบประเมินทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์ จำนวน 1 ฉบับ แบบประเมินความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อชุดฝึกปฏิบัตินาฏศิลป์ จำนวน 4 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดฝึกปฏิบัตินาฏศิลป์ จากการวิเคราะห์ข้อมูลปรากฏว่าชุดฝึกปฏิบัตินาฏศิลป์ เรื่องฟ้อนชมเมืองเพชรบูรณ์ มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 คือมีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.11/88.56
2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน ที่เรียนด้วยชุดฝึกปฏิบัตินาฏศิลป์ เรื่อง ฟ้อนชมเมืองเพชรบูรณ์ ปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. ผลการประเมินทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์ หลังได้รับกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ฟ้อนชมเมืองเพชรบูรณ์ คิดเป็นค่าเฉลี่ย รวม 4.73 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมีค่า 0.41 คิดเป็นร้อยละ 94.60 สูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80
4. ผลการสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกปฏิบัตินาฏศิลป์
มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.57 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมีค่า 0.47 อยู่ในระดับ มากที่สุด