ชื่อเรื่อง การประเมินดครงการโรงเรียนปลอดขยะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
มหาสารคาม เขต 3
ผู้วิจัย ชัยณรงค์ แสงคำ
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินด้านบริบท 2) ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า 3) ประเมินด้านกระบวน 4) ประเมินด้านผลผลิต วิธีการประเมินแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) การประเมินก่อนการดำเนินโครงการทำการประเมินด้านบริบทและด้านปัจจัยของโครงการ ผู้ประเมิน ได้แก่ คณะกรรมการนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา จำนวน 9 คน ผู้อำนวยการกลุ่มในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 จำนวน 10 คน และประธานศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษา จำนวน 12 คน 2) การประเมินระหว่างดำเนินโครงการทำการประเมินด้านกระบวนการ ผู้ประเมินเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน และ 3) การประเมินหลังการดำเนินโครงการ ทำการประเมินด้านผลผลิต ผู้ประเมินเป็นคณะกรรมการนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา จำนวน 9 คน กลุ่มตัวอย่างเป็นโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 13 โรงเรียน ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 13 คน ครู จำนวน 130 คน นักเรียน จำนวน 390 คน และคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 78 คน กลุ่มตัวอย่างครู นักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษา ได้มาโดยวิธีการสุ่มหลายขั้นตอน (Multi Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินด้านบริบท แบบประเมินด้านปัจจัยนำเข้า แบบประเมินด้านกระบวน และแบบประเมินด้านผลผลิต ซึ่งประกอบด้วยแบบทดสอบชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ แบบประเมินผลสำเร็จและความยั่งยืนในการดำเนินงาน และแบบประเมินความพึงพอใจ ผลการประเมิน พบว่า
1. การประเมินก่อนการดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 มีผลการประเมิน ดังนี้
1.1 ด้านบริบทของโครงการ เป็นการประเมินความสอดคล้องของโครงการกับนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ความต้องการจำเป็นของโรงเรียน ความเป็นไปได้ของโครงการ ความเหมาะสมของกระบวนการ วิธีการดำเนินการ ตลอดจนการประเมินผลโครงการ ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับดี ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ เป็นการประเมินความเหมาะสมของคณะทำงานโครงการ งบประมาณที่ได้รับ ระยะเวลา สถานที่ สื่อ วัสดุและอุปกรณ์ ตลอดจนการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับดี ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
2. การประเมินระหว่างการดำเนินโครงการ เป็นการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการโรงเรียนปลอดขยะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 ประเมินความรู้ความเข้าใจของผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียน ก่อนการดำเนินงานโครงการ การจัดทำนโยบาย การสนับสนุน แผนการดำเนินงานการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการสร้างวินัยในการจัดการขยะ การปลูกฝังและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ การจัดกิจกรรมโรงเรียนปลอดขยะโดยใช้หลัก 3Rs การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับดี ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
3. การประเมินหลังการดำเนินโครงการ เป็นการประเมินด้านผลผลิตของโครงการโรงเรียนปลอดขยะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 มีผลการประเมิน ดังนี้ 3.1 ผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียน มีความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการขยะ
หลังการดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ โดยรวมอยู่ในระดับมาก
3.2 ผลสำเร็จของโครงการและความยั่งยืนในการดำเนินงานโครงการ ผลของโครงการทำให้มีปริมาณขยะลดลง ทุกคนมีส่วนร่วมในโครงการ มีผู้รับผิดชอบโครงการและดำเนินกิจกรรม อย่างต่อเนื่อง โดยรวมอยู่ในระดับดี ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
3.3 ผู้บริหารโรงเรียน ครู และคณะกรรมการสถานศึกษา มีความพึงพอใจต่อโครงการโรงเรียนปลอดขยะ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนนักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมาก