บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัด การเรียนรู้โดยโครงงาน สำหรับครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองหล่มสัก
2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 วิธีการวิจัยดำเนินตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มี 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 วิจัย (research) การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน การจัดการเรียนรู้โดยโครงงาน ขั้นตอนที่ 2 พัฒนา (development) การพัฒนารูปแบบการจัด การเรียนรู้ และแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน โดยให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจดูความเหมาะสม ขั้นตอนที่ 3 วิจัย (research) การทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง การวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 30 คน เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินการทำโครงงาน แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ขั้นตอนที่ 4 วิจัย (development) การประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย
1. ข้อมูลพื้นฐานรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง การวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุจากท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศกษาปีที่ 6 ที่พัฒนาขึ้นผู้วิจัยสรุปแนวทางในการจัดการเรียนรู้โครงงานตามขั้นตอน 5 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นกำหนดปัญหา
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นวางแผนการขั้นตอนการดำเนินงาน
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นการลงมือปฏิบัติ
ขั้นตอนที่ 4 ขั้นสรุปผลการดำเนินงาน
ขั้นตอนที่ 5 ขั้นเขียนโครงงานและนำเสนอ
2. ผลการสร้างและผลการตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ผลการประเมินความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่อแผนการเรียนรู้การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ค่าเฉลี่ยทั้ง 6 ด้าน ความเหมาะสมของแผนการจัดการเรียนรู้ของผู้เชี่ยวชาญ มีค่าเฉลี่ย 4.83 อยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่ง 1) สาระสำคัญ มีค่าเฉลี่ย 4.93 อยู่ในระดับมากที่สุด 2) ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง มีค่าเฉลี่ย 4.67 อยู่ในระดับมากที่สุด 3) เนื้อหา มีค่าเฉลี่ย4.75 อยู่ในระดับมากที่สุด 4) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน มีค่าเฉลี่ย 4.87 อยู่ในระดับมากที่สุด 5) สื่อการเรียนการสอน มีค่าเฉลี่ย 4.83 อยู่ในระดับมากที่สุด 6) การวัดผลประเมินผล มีค่าเฉลี่ย 4.93 อยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ
3. ผลการทดลองและผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนโครงงานทัศนศิลป์เชิงสร้างสรรค์ เรื่อง การวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเมืองเพชรบูรณ์บนวัสดุจากท้องถิ่นตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แบ่งออกเป็น 2 ตอน ดังนี้
3.1 การประเมินความสามารถการทำโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า การประเมินความสามารถการทำโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า นักเรียนมีความสามารถในการทำโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง โดยรวม มีค่าเฉลี่ย 9.07 อยู่ในระดับดีมาก ซึ่งนักเรียนมีความสามารถกระบวนการทำโครงงาน, นักเรียนเห็นความสำคัญของการจัดทำโครงงาน, นักเรียนมีความสามารถนำเสนอโครงงาน และนักเรียนมีความสามารถค้นคว้าเนื้อหาการทำโครงงาน ตามลำดับ
3.2 ผู้วิจัยได้ทำการทดลองใช้แผนการจัดการเรียนรู้โดยโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผู้วิจัยได้ทำการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนเพื่อหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนและหลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์ บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนและก่อนเรียน เท่ากับ 24.97 คะแนน และ 15.50 คะแนน ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังเรียน พบว่า นักเรียนมีทักษะการคิดสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยโครงงานสู่เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการวาดภาพศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์บนวัสดุท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า โดยรวม ทั้ง 3 ด้าน ความพึงพอใจของนักเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 47.323 ระดับมาก ร้อยละ 34.04 และระดับปานกลาง ร้อยละ 18.72 ตามลำดับ ซึ่ง 1) ด้านความรู้ความเข้าใจเนื้อหา นักเรียนตระหนักรู้ภูมิปัญญาไทยในศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์ ระดับมากที่สุด ร้อยละ 56.67 นักเรียนทราบถึงประวัติความเป็นมาของศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์ และผู้เรียนเกิดความเข้าใจภูมิปัญญาไทยศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์ ร้อยละ 43.33 ตามลำดับ 2) ด้านทักษะ การเรียนรู้ของนักเรียน นักเรียนได้ฝึกการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบและนักเรียนได้ฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหา ร้อยละ 56.67 ผู้เรียนได้ทักษะกระบวนการคิดแบบวิเคราะห์ ร้อยละ 53.33 และนักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น ร้อยละ 50 ตามลำดับ 3) ด้านประโยชน์ที่ได้รับ ผู้เรียนเกิดความหวงแหนภูมิปัญญาไทยศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์ ร้อยละ 56.17 ผู้เรียนเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทยศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์ ร้อยละ 46.67 และผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาไทย ศิลปวัฒนธรรมเพชรบูรณ์ ร้อยละ 40 ตามลำดับ