กิตติกรรมประกาศ
รายงานผลจัดกิจกรรมการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย โดยชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น(เศษผ้าหม้อห้อม) ฉบับนี้สำเร็จได้ด้วยดีด้วยความกรุณาอย่างสูงจาก นายไกรวุฒิ จินันทุยา ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง,นายภาคิน มหาเดชาไชย ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม,นางจุฬาลักษณ์ บัวชุม ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง สังกัดกองการศึกษาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ที่ได้สละเวลาให้คำปรึกษา คำแนะนำข้อคิดตลอดจนชี้แนะแนวทางในการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดีมาโดยตลอดระยะเวลาในการทำดำเนินงาน จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จึงขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้
ขอขอบพระคุณคณะผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้กรุณาพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของแผนการจัดประสบการณ์ การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย โดยชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น(เศษผ้าหม้อห้อม) แบบประเมินความเหมาะสมของแผนการจัดประสบการณ์ การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย โดยชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น(เศษผ้าหม้อห้อม) แบบประเมินพัฒนาการด้านร่างกายการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย(ก่อน-หลัง) การจัดประสบการณ์และให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขเครื่องมือที่ใช้ในการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้เป็นอย่างดียิ่ง
ขอขอบพระคุณ คณะครูและนักเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ที่ได้ให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่ผู้รายงานเป็นอย่างดีในการเก็บข้อมูลและทดลองจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
แสงเดือน สัตยสุนทร
ชื่อเรื่อง การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย โดยชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ จากวัสดุเหลือใช้ใน ท้องถิ่น(เศษผ้าหม้อห้อม)
ผู้รายงาน นางแสงเดือน สัตยสุนทร ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง
ปี พ.ศ. 2561
บทคัดย่อ
การพัฒนานวัตกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัย จำนวน 2 ข้อ ได้แก่ 1.)เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย โดยชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น 2.)เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการด้านร่างกายกล้ามเนื้อมัดเล็กการจัดประสบการณ์ระหว่างก่อน-หลัง จัดกิจกรรม
ศึกษาข้อมูลกับประชากรของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง กล่าวคือกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มีจำนวน 10 คน โดยใช้วิธีสุ่มแบบเจาะจงเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ๑)แผนการจัดประสบการณ์ การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย โดยชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น ๒)แบบประเมินความเหมาะสมของ แผนการจัดประสบการณ์ การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย โดยชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น ๓)แบบประเมินพัฒนาการด้านร่างกาย การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย(ก่อน-หลัง) การจัดประสบการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ 1.สถิติที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือได้แก่ 1) IOC 2) ประสิทธิภาพของนวัตกรรม E1
3.สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์การวิจัย ได้แก่ T - test dependent ในการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยก่อน-หลังเรียน
สรุปผล
สรุปผลการพัฒนานวัตกรรม
ผลการพัฒนานวัตกรรมสามารถสรุปได้ดังนี้ การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย โดยชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น พบว่า มี ค่าเฉลี่ย(X) = 52.08 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D) = 2.778 ในภาพรวมค่าเฉลี่ยความเหมาะสมอยู่ในระดับ มากที่สุด และมี E1 = 80.5 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนด
อภิปรายผล
การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้สื่อหม้อห้อมสร้างสรรค์ พบว่า มี ค่าเฉลี่ย(X) = 52.08 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D) = 2.778 ในภาพรวมค่าเฉลี่ยความเหมาะสมอยู่ในระดับ มากที่สุด และมี E1 = 97.5 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนด เพราะการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน โดยกล้ามเนื้อมัดเล็กเป็นอวัยวะหนึ่งในการประกอบกิจวัตรประจำวันของตนเอง เช่น การใส่ถอด กระดุม รูดซิป การแปรงฟัน ผูกเชือกรองเท้า งานศิลปะ รวมทั้งการขีดเขียน ถ้าเด็กใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้คล่องแคล่วจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ การเล่น และการจัดกิจกรรมศิลปะต่าง ๆ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กได้พัฒนาความพร้อมทางมือและตามากที่สุดเด็กจะเรียนรู้อย่างสนุกสนาน เด็กจะใช้มือในการหยิบจับวัสดุต่างๆทำให้เข้าใจวิธีการใช้นิ้วจับดินสอได้อย่างถูกวิธี (พัฒนา ชัชพงษ์, 2549 :122)กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาการทำงานที่ประสานสัมพันธ์กันระหว่างการใช้กล้ามเนื้อมือนิ้วมือ และประสาทตา ซึ่งเด็กจะได้พัฒนาทั้งกล้ามเนื้อนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อมือ และนิ้วมือ ซึ่งจะส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ มีความแข็งแรง และทำงานได้คล่องตัวขึ้นและมีทักษะในการใช้มือได้อย่างคล่องแคล่วต่อไป
(เลิศ อานันทนะ, 2549 :45-46) กล้ามเนื้อมัดเล็ก เป็นอวัยวะที่สำคัญหนึ่งในการ ได้ประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง การใส่ถอดกระดุมหลุดซิป การแปรงฟัน ผูกเชือกรองเท้า งานศิลปะรวมทั้งการขีดเขียน เด็กใช้กล้ามเนื้อเล็กได้คล่องแคล่ว จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ เส้นด้านสติปัญญาให้ดีขึ้นเพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กมีส่วนทำให้เด็กได้ใช้มือสำรวจ สังเกตจากการสัมผัสจับต้องในทุกๆกิจกรรม
(อธิษฐาน พูลศิลป์ศักดิ์กุล. 2556: 111) ซึ่งการใช้มือเพื่อที่จะจับของเล่นและเรียนรู้ทักษะ ในการช่วยเหลือตนเองเช่นการกินอาหารและแต่งตัว (สมศรี เมฆ ไพบูลย์วัฒนา.2551: 22; อ้างอิงจาก อแวร์เนส. 2003:Online) เป็นการฝึกความพร้อมด้านกล้ามเนื้อมือ นิ้วมือให้แข็งแรง ใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว และการฝึกความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือจะช่วยให้เด็กออกกำลังและพร้อมที่จะใช้ในการเขียน
(พูนสุข บุณย์สวัสดิ์.2554: 41) เด็กจะสามารถเขียนสิ่งใดก็ต่อเมื่อมีความสมารถในการใช้กล้ามเนื้อมือและสายตาประสานสัมพันธ์กันได้ดี
(เยาวพา เดชะคุปต์.2558:123) ซึ่งจะทำให้การควบคุมและการประสานงานกันของกล้ามเนื้อมัดเล็กกับสายตามีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของการรับรู้ และสติปัญญาของเด็กปฐมวัย
(กุลยา ตันติผลาชีวะ.2552:64) พัฒนา ชัชพงศ์ (2551:122) กล่าวถึงความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กไว้คือการพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือให้แข็งแรง เด็กก็พร้อมที่จะลากลีลามือ ซึ่งเป็นพื้นฐานการของการเขียน
เกียรติวรรณ อมาตยกุล (2559:9) กล่าวถึงความสำคัญของความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กไว้ดังนี้มือของคนเราคือฐานของสมองผู้ที่ได้รับการบริหารมือมาตั้งแต่เด็กๆ จะเป็นผู้ที่มีสมองดีมีความคิดฉับไว การฝึกฝนความคล่องแคล่วว่องไวของการใช้กล้ามเนื้อนิ้วมือมีความสัมพันธ์อย่างมากกับความคิดอันฉับไวขอเด็ก ในทางตรงกันข้ามเด็กที่ไม่มีความสามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือได้คล่องแคล่วมักจะคิดอะไรชาไปด้วย
จรัล คำภารัตน์ (2551:14) กล่าวถึง ความสำคัญของความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กไว้ดังนี้คือ ในขณะที่เด็กกำลังลากเส้นในลักษณะขีดเขี่ยไปมานั้นสมองของเด็กได้จินตนาการที่ไร้ขอบเขต และทำให้กล้ามเนื้อประสาทตามีความสัมพันธ์กัน
ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2551:101-102) ได้กล่าวถึงความสำคัญของความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กไว้ว่ามิได้หมายถึงเพียงการเขียนตัวอักษรตามความหมายของผู้ใหญ่แต่การเขียนของเด็กอนุบาลเพียงการขีดเขียนไปมาก็เป็นการเขียนในขั้นเริ่มต้นแล้ว ซึ่งประโยชน์ของการเขียนก็เพื่อสื่อความและแสดงออกถึงความคิดเห็นเป็นสื่อในการแสดงออกที่ตามองเห็นโดยต้องใช้ความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือในการบังคับควบคุมการทำงานจากการศึกษาความสำคัญของความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก สรุปได้ว่าความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเด็กเล็กเป็นอย่างมากและเป็นอวัยวะที่สำคัญ ในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมือ นิ้วมือ แขนทำงานร่วมกันกับกล้ามเนื้อตาให้ประสานงานกันอย่างลงตัว และทำให้เด็กสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้อย่างคล่องแคล่ว การบริหารกล้ามเนื้อมือกับตาบ่อยๆจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสมองที่ดีตามไปด้วย ตลอดจนการขีดเขียนของเด็กต่อไป
การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้สื่อหม้อห้อมสร้างสรรค์พบว่าหลังการใช้กิจกรรมสื่อหม้อห้อมสร้างสรรค์ เด็กมีพัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กสูงขึ้น โดยมีคะแนนพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กแตกต่างกันโดยมีคะแนนหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองทุกคน
ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการพัฒนานวัตกรรมไปใช้
1. ครูผู้สอนควรศึกษาชุดกิจกรรมการสร้างสรรค์สื่อให้เข้าใจ และชัดเจนเพื่อจะได้สามารถใช้จัด กิจกรรมให้กับเด็กได้อย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านความพร้อมในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้อย่างมี ประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ขั้นตอนการจัดกิจกรรมสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับเวลาและความสามารถของเด็ก
3. ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมอย่างอิสระตามจินตนาการของตนเอง และควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรมอย่างอิสระตามความสนใจที่เด็กต้องการ
4. ควรนำแนวทางการจัดกิจกรรมการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้สื่อหม้อห้อมสร้างสรรค์ ไปประยุกต์ใช้ร่วมกับแผนการจัดประสบการณ์ ระดับปฐมวัยแบบปกติเพื่อให้การจัดกิจกรรมมีความน่าสนใจมากขึ้น
ข้อเสนอแนะสำหรับผลการพัฒนานวัตกรรมครั้งต่อไป
1. ในการทำการกิจกรรม โดยใช้สื่อหม้อห้อมสร้างสรรค์ ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดกิจกรรมที่เด็กอยากลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
2. ครูควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ที่สามารถหาได้มาใช้ในการทำกิจกรรมสื่อหม้อห้อมสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
3. ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กในกลุ่มทดลองได้ทำกิจกรรมสื่อหม้อห้อมสร้างสรรค์อย่างอิสระ และไม่ควรจำกัดเวลาในการทำวิจัย