ชื่อผลงานวิชาการ การประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนประชาบำรุง ปีการศึกษา 2561
ผู้ประเมิน นายอนุวัฒน์ ลือศิริวัฒนา
หน่วยงาน โรงเรียนประชาบำรุง เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร
ปี พ.ศ. 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนประชาบำรุง ปีการศึกษา 2561 ใน 4 ด้านด้วยกันคือ ความเหมาะสมของบริบท ความเหมาะสมของปัจจัยนำเข้า ความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงาน และผลผลิตของโครงการ 2 ประเด็น คือ คุณธรรมจริยธรรมนักเรียน จำนวน 5 ด้าน ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความรักในความเป็นธรรม ความพอเพียง และจิตสาธารณะ และคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ จำนวน 2 ด้าน ได้แก่ ศักยภาพของครู และผลความสำเร็จจากความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้บริหารและครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 630 คน จำแนกเป็น ผู้บริหารและครู 64 คนใช้วิธีสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) ใช้ประชากรเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด นักเรียน 283 คนสุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) และผู้ปกครองนักเรียน 283 คน ได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) โดยกำหนดให้เป็นผู้ปกครองนักเรียนที่ได้รับเลือกให้เป็นกลุ่มตัวอย่าง
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถามที่ผู้ประเมินสร้างขึ้น แบ่งเป็น 4 ชุด ข้อคำถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ประกอบด้วยชุดที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลความคิดเห็นที่มีต่อบริบทของโครงการโรงเรียนคุณธรรม จำนวน 13 ข้อคำถาม ชุดที่ 2 แบบสอบถามข้อมูลความคิดเห็นที่มีต่อปัจจัยนำเข้าของโครงการโรงเรียนคุณธรรม จำนวน 15 ข้อคำถาม ชุดที่ 3 แบบสอบถามข้อมูลความคิดเห็นที่มีต่อกระบวนการของโครงการโรงเรียนคุณธรรม จำนวน 15 ข้อคำถาม และชุดที่ 4 แบบสอบถามข้อมูลความคิดเห็นที่มีต่อผลผลิตของโครงการโรงเรียนคุณธรรม แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลผลผลิต ในส่วนของคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน จำนวน 50 ข้อคำถาม และตอนที่ 2 แบบสอบถามข้อมูลผลผลิต ในส่วนของศักยภาพครูและผลความสำเร็จจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลผลผลิต ด้านศักยภาพของครู จำนวน 32 ข้อคำถาม ส่วนที่ 2 แบบสอบถามข้อมูลผลผลิต ด้านผลความสำเร็จจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 12 ข้อถาม โดยมีค่าความเชื่อมั่นตั้งแต่ 0.92-0.99 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา พบว่า
1. บริบทของโครงการมีความเหมาะสม ในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ โครงการสามารถแก้ปัญหาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียน กิจกรรมของโครงการช่วยให้นักเรียนมีการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้ดีขึ้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ และวิธีดำเนินโครงการ
2. ปัจจัยนำเข้าของโครงการมีความเหมาะสม ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยของผลการประเมินสูงที่สุดคือ เอกสารที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในโครงการมีความเหมาะสมและ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ นักเรียน ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเป้าหมายของโครงการ และมีข้อมูลสารสนเทศพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการเพื่อใช้ในการพิจารณาและตัดสินใจดำเนินการเพียงพอ
3. กระบวนการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนคุณธรรมมีความเหมาะสม ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ มีการวางแผนการดำเนินโครงการสู่การปฏิบัติ โดยกำหนดเป็นปฏิทินปฏิบัติงานที่ชัดเจน ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ โรงเรียนมีการเผยแพร่และขยายผลการปฏิบัติสู่ครอบครัวและชุมชน
4. ผลผลิตโครงการในด้านคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ ความรักในความเป็นธรรม ด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ ความรับผิดชอบ ผลผลิตโครงการในด้านคุณค่าและคุณประโยชน์ที่ได้รับ ประเด็นศักยภาพครูในการเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียน ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ รักในความเป็นธรรม ค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ ความพอเพียง ส่วนประเด็นผลความสำเร็จจากความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้อง ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ ครูและนักเรียนมีความสุข ยิ้มแย้ม แจ่มใส ทักทาย โต้ตอบอย่างมีสัมมาคารวะ ค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ โรงเรียนมีความพร้อมในการเป็นแหล่งศึกษาดูงานพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม