การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหน่วยการเรียนรู้ เรื่องรู้คิดประดิษฐ์ได้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานระหว่างก่อนและหลังเรียน 2) เพื่อศึกษาความสามารถในการประดิษฐ์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนในรายวิชาการงานอาชีพปีการศึกษา 2561โรงเรียนนิคมสร้างตนเองพิมาย 2 ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอพิมาย สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาเขต 7 จำนวน 28 คน
เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย1) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจำนวน 3 แผน ใช้เวลา 6 ชั่วโมง 2) แบบทดสอบวัดผลการเรียน จำนวน 10 ข้อ 3)แบบวัดความสามารถในการประดิษฐ์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหน่วยการเรียนรู้ เรื่องรู้คิดประดิษฐ์ได้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานระหว่างก่อนและหลังเรียนใช้สูตร t-test แบบ dependent ความสามารถในการประดิษฐ์และความพึงพอใจในกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ใช้การหาค่าเฉลี่ย x̄ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D)
ผลการวิจัยพบว่า
1.ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหน่วยการเรียนรู้เรื่องรู้คิดประดิษฐ์ได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
2. ความสามารถในการประดิษฐ์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน อยู่ในระดับความสามารถสูง
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 อยู่ในระดับมากที่สุด