ชื่อผลงาน รายงานการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านบกปุย จังหวัดพังงา
ผู้ประเมิน นายไกรศร ไชยเทพ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบกปุย
ปีที่ประเมิน 2560
บทสรุปผู้บริหาร
ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นกระบวนการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างมีขั้นตอน ช่วยส่งเสริม พัฒนา ป้องกันและแก้ไขปัญหาให้แก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทักษะในการดำรงชีวิต ทุกคนได้รับการดูแลและช่วยเหลือ พิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครองอย่างรอบด้านด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง เหมาะสม ทันการณ์เพื่อให้ผู้เรียนรอดพ้นจากสภาวะวิกฤติต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย เป็นคนดี มีความสุขอย่างทั่วถึงต่อเนื่องและยั่งยืน ผู้ประเมินในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ตระหนักเห็นว่าการดำเนินงานโครงการใด ๆ ก็ตาม ถ้าต้องการทราบผลของความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการ เพื่อนำสารสนเทศจากการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาโครงการนั้นให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดียิ่งขึ้นแล้ว การประเมินก็ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการนั้น ผู้ประเมินจึงได้ดำเนินการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนขึ้น โดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบซิปป์ (CIPP Model) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับบริบท สภาพแวดล้อมของโครงการ ปัจจัยนำเข้าของโครงการ กระบวนการของโครงการ และผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การแก้ไขปัญหาของนักเรียน การส่งต่อนักเรียน และความพึงพอใจของนักเรียน มีประชากรที่ศึกษา จำนวน 98 คน ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน ครู 2 คน ครูพี่เลี้ยง 1 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 6 44 คน ผู้ปกครองนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 6 43 คน (ซ้ำกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 1 คน) และ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 7 คน (ซ้ำกับผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้แทนครู) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย 1) แบบประเมินด้านบริบทสภาพแวดล้อม ซึ่งประเมินโดยผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และครูผู้สอน มีค่าความเชื่อมั่นรายด้านเท่ากับ .85 2) แบบประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ซึ่งประเมิน โดยผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และครูผู้สอน มีค่าความเชื่อมั่นรายด้านเท่ากับ 0.81 3) แบบประเมินด้านกระบวนการ ซึ่งประเมินโดยผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอนและผู้ปกครอง มีค่าความเชื่อมั่นรายด้านเท่ากับ 0.88 4) แบบประเมินด้านผลผลิต ซึ่งประเมิน โดยผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียน มีค่าความเชื่อมั่นรายด้านเท่ากับ .78 และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าร้อยละ
ผลการประเมินโครงการในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) ก่อนดำเนินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านบกปุย พบว่า ด้านบริบทของโครงการที่เกี่ยวกับความต้องการจัดทำโครงการตามความสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ความคุ้มค่าของโครงการและการนำไปใช้ รวมถึงความจำเป็นของการดำเนินโครงการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (X-bar= 4.77, S.D. = 0.38) สรุป มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ก่อนดำเนินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านบกปุย ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( X-bar= 4.59, S.D. = 0.45) สรุป มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ระหว่างดำเนินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านบกปุย ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (X-bar = 4.46, S.D. = 0.63) สรุป มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) หลังดำเนินการโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านบกปุย พบว่า ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนบ้านบกปุย มีความคิดเห็นในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( X-bar= 4.58, S.D. = 0.51) สรุป มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์
5. ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านบกปุย ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (X-bar = 4.53, S.D. = 0.53)
ประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ
ประโยชน์ต่อนักเรียน สามารถพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ลดจำนวนนักเรียนในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา และนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ มีทักษะชีวิต มีภูมิคุ้มกันภัยต่าง ๆ มีสุขภาพร่างกาย สุขนิสัยการปฏิบัติตนที่เหมาะสม มีสัมพันธภาพที่ดีและมีส่วนร่วมดูแล พัฒนาโรงเรียน ชุมชน และสังคมด้วยความเต็มใจ สามารถเรียนอย่างมีความสุขและพึงพอใจต่อความสำเร็จของตัวเอง
ประโยชน์ต่อครู ครูมีเจตคติที่ดีต่อนักเรียน เข้าใจนักเรียนมากขึ้น สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อการคัดกรองนักเรียน ช่วยป้องกัน แก้ไขปัญหานักเรียนได้ถูกทาง หาวิธีการดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างถูกต้อง แก้ปัญหาได้ตรงจุด รวดเร็ว เพราะมีข้อมูลของนักเรียนด้าน ต่าง ๆ ส่งเสริมนักเรียนทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่มีปัญหาให้มีคุณภาพตามที่โรงเรียนหรือชุมชนคาดหวัง
ประโยชน์ต่อผู้บริหารและโรงเรียน ผู้บริหารรู้ศักยภาพของครูในการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ สามารถกำหนดแนวทางในการพัฒนานักเรียน หลักสูตร และคุณภาพการจัดการศึกษา สามารถพัฒนาระบบได้ภายใต้การร่วมมือของ ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนได้รับการยอมรับ การสนับสนุน และการให้ความร่วมมือจากชุมชน บุคลากร องค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี