ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านสาคร โดยใช้รูปแบบซิป
(CIPP Model)
ผู้รายงาน นายอนุรักษ์ เนาวเกตุ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสาคร
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2561
บทสรุปผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านสาคร โดยใช้รูปแบบซิป (CIPP Model) ปีการศึกษา 2561 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็น และความเป็นไปได้ของโครงการ ปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสมของบุคลากรที่รับผิดชอบ และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน กระบวนการของโครงการเกี่ยวกับกิจกรรมที่ดำเนินการ และการติดตามโครงการ และผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การแก้ไขปัญหาของนักเรียน การส่งต่อนักเรียน การมีวินัยของนักเรียน ความพึงพอใจของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู มีกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงที่ศึกษา 111 คน ประกอบด้วย นักเรียน 53 คน ผู้ปกครอง 52 คน และครู 6 คน เครื่องมือที่ใช้ ประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบบันทึก สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้หาคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ การหาความตรงเชิงเนื้อหาของแบบสอบถามโดยใช้ค่า IOC และการหาความเที่ยงของแบบสอบถามโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา
ผลการประเมินโครงการพบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ปีการศึกษา 2561 พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.37 ทั้งตัวชี้วัดความต้องการจำเป็นในการจัดทำโครงการ และความเป็นไปได้ของโครงการ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ความเหมาะสมของบุคลากรที่รับผิดชอบผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก และร้อยละของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุดทั้งตัวชี้วัดร้อยละของกิจกรรมที่ดำเนินการ และร้อยละของการติดตามโครงการ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด ระดับมากที่สุด ได้แก่ ร้อยละของนักเรียนที่ครูรู้จักเป็นรายบุคคล ร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการคัดกรอง ร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ และร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการส่งต่อ ระดับมาก ได้แก่ ร้อยละของนักเรียนที่มีวินัยเพิ่มขึ้น ระดับความพึงพอใจของนักเรียน ระดับความพึงพอใจของผู้ปกครอง และระดับความพึงพอใจของครู
ข้อเสนอแนะ
การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลาย ๆ ฝ่าย เช่น ครูและผู้บริหารสถานศึกษา กรรมการสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจะทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนา ป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จากผลการประเมินโครงการส่งเสริมระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านสาคร จะเห็นได้ว่าควรดำเนินโครงการนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินโครงการอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามข้อเสนอแนะดังนี้
1. จากผลการประเมินประเด็นบริบท พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก แต่เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า การจัดทำโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และการกำกับติดตามโครงการอยู่ในระดับปานกลาง ผู้บริหารจึงควรนิเทศโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และกำกับติดตามการดำเนินงานตามโครงการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริบทของโครงการเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการการดำเนินโครงการ การกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นและความเป็นไปได้ของโครงการจะเป็นเข็มทิศชี้นำการปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จได้ดี จึงควรมีการพิจารณาถึงความต้องการจำเป็นของสภาพแวดล้อม คือ ความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู และกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา นโยบายหน่วยงานต้นสังกัด และสภาพปัญหาของนักเรียน อันเป็นการตอบสนองความต้องการของนักเรียนอย่างแท้จริง
2. จากผลการประเมินประเด็นปัจจัยนำเข้าโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า บุคลากรมีความสามารถเพียงพอกับโครงการอยู่ในระดับมาก ผู้บริหารจึงควรสร้างขวัญกำลังใจ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้พร้อมก่อนการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
3. จากผลการประเมินประเด็นกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งควรยึดถือปฏิบัติในการดำเนินโครงการ นอกจากนั้นการปฏิบัติตามกิจกรรมของโครงการมีหลายกิจกรรมที่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน เช่น นักจิตวิทยา นักสาธารณสุข ในการดูแลช่วยเหลือพัฒนานักเรียนตามสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละคน จึงควรขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกหรือพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือ และติดตามผลในการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์
4. จากผลการประเมินประเด็นผลผลิต พบว่า ร้อยละของนักเรียนที่ครูรู้จักเป็นรายบุคคล ร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการคัดกรอง ร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการแก้ปัญหาได้สำเร็จ และร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการส่งต่อ ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด ส่วนร้อยละของนักเรียนที่มีวินัยเพิ่มขึ้น ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียน ผู้ปกครอง และครู มีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมาก จึงควรจัดกิจกรรมตามโครงการอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะกับความต้องการและสภาพปัญหาของนักเรียน เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่นักเรียน ผู้ปกครอง และครูให้มากยิ่งขึ้นไป