ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกตด้วยกิจกรรมตามกระบวนการ
สืบเสาะหาความรู้ (5E) สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี)
โรงเรียนบ้านม่วงหนองตาด
ผู้วิจัย นางสาวพิชญา ยอดสิงห์
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของกิจกรรมตามกระบวนการ
สืบเสาะหาความรู้ (5E) เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต สำหรับเด็ก
ชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) โรงเรียนบ้านม่วงหนองตาด ก่อนและหลังการทดลองโดยใช้กิจกรรมตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ (5E)
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi - Experimental Design) โดยใช้กลุ่มทดลองแบบกลุ่มเดียว มีการวัดก่อนเรียนและหลังเรียน (One Group Pretest Posttest Design) สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการวิจัย คือ เด็กชาย - เด็กหญิง ที่มีอายุระหว่าง 5 - 6 ปี กำลังเรียนอยู่ระดับ
ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านม่วงหนองตาด อำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 6 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย
1) กิจกรรมตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ (5E) เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
ด้านการสังเกต ควบคู่กับแผนการจัดประสบการณ์ จำนวน 40 แผน 2) แบบประเมินทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยวิเคราะห์โดยการคำนวณหาค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนโดยการทดสอบค่าที ( t - test) แบบ Dependent Samples
ผลการวิจัย พบว่า
1. กิจกรรมตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ (5E) เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 86.04/85.56 ซึ่งถือว่าสูงว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) โรงเรียนบ้านม่วงหนองตาด ที่ได้รับการจัดกิจกรรมตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ (5E) มีทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกตหลังการทดลอง
สูงกว่าก่อนการทดลองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งภาพรวมและแยกรายด้าน ได้แก่ ด้านคุณลักษณะ ด้านการกะประมาณ และการเปลี่ยนแปลง