บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
เรื่อง : รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน
โรงเรียนอนุบาลดอยหลวง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
หน่วยงาน : โรงเรียนอนุบาลดอยหลวง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
ผู้รายงาน : นายวันชัย ปัญญาแก้ว
ปีที่พิมพ์ : 2562
การรายงานในครั้งนี้ เป็นการรายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ สู่ประชาคมอาเซียน โรงเรียนอนุบาลดอยหลวง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบของการประเมินตาม CIPPIEST Model มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน ในด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต ซึ่งด้านผลผลิต ประเมินตามส่วนขยาย ได้แก่ ผลกระทบ ประสิทธิผล ความยั่งยืน และการถ่ายทอดส่งต่อ กลุ่มประชากรที่ให้ข้อมูลในการประเมิน ประกอบด้วย ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง จำนวน 201 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 22 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการประเมิน
1. ผลการประเมินบริบทโครงการ ตามความคิดเห็นครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ กำหนดนโยบายการจัดตั้งโครงการฯ สอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการและมีความสอดคล้องกันระหว่างวัตถุประสงค์กับกิจกรรมในโครงการฯ
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าโครงการ ตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ มีโครงสร้างการบริหารงานโครงการฯ ชัดเจน และครูมีความมุ่งมั่น ในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ให้ประสบความสำเร็จ
3. ผลการประเมินกระบวนการโครงการ ตามความคิดเห็นของครู และนักเรียน พบว่า ในการบริหารโครงการด้านการบริหารจัดการ การจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมในโรงเรียน และการจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่างมากถึงมากที่สุด ดังนี้
3.1 ด้านการบริหารจัดการ พบว่า ทั้งครู และนักเรียนให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าในภาพรวมมีการดำเนินงานอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรกดังนี้ ครูเห็นว่ามีการกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน ชัดเจน ถัดมามีการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน ส่วนนักเรียนเห็นว่ามีการสื่อสารระหว่างผู้ร่วมโครงการเพื่อสารสนเทศ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ ถัดมาคือจัดทำแผนระยะยาว แผนปฏิบัติงานโครงการฯ อย่างชัดเจน
3.2 ด้านการจัดการเรียนรู้ พบว่า ทั้งครู และนักเรียนให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าในภาพรวมมีการดำเนินงานอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรกดังนี้ อันดับแรกทั้งครูและนักเรียนให้ความเห็นสอดคล้องกันคือมีการจัดการเรียนรู้ตามกรอบหลักสูตรการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน ลำดับถัดมาครูให้ความสำคัญกับการจัดสภาพแวดล้อม ในห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน ส่วนนักเรียนเห็นว่ามีการเรียนรู้จากสื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรม ICT ในการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนที่หลากหลาย
3.3 ด้านกิจกรรมส่งเสริมในโรงเรียน ทั้งครู และนักเรียนให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าในภาพรวมมีการดำเนินงานอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรกดังนี้ ครูเห็นว่ามีการสร้างความเข้าใจแก่ครู และนักเรียนถึงวัตถุประสงค์ มีแผนการดำเนินงานกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน ถัดมามีการรายงานผลการจัดกิจกรรมส่งเสริม การเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นระบบ ส่วนนักเรียนเห็นว่า มีการกำหนดวัตถุประสงค์ ของกิจกรรมส่งเสริมอาเซียนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน ถัดมา มีการสร้างความเข้าใจแก่ครู และนักเรียนถึงวัตถุประสงค์ และแผนการดำเนินงานกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน
3.4 ด้านกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ ทั้งครู และผู้ปกครอง ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าในภาพรวมมีการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรก ดังนี้อันดับแรกทั้งครูและผู้ปกครองให้ความเห็นสอดคล้องกันคือ มีการประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการพัฒนาการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนให้กับผู้ปกครอง และชุมชนทราบ ลำดับถัดมาคือ ครูเห็นว่าสถานศึกษามีการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักในการอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียนแก่ผู้ปกครอง และชุมชน ส่วนผู้ปกครอง เห็นว่าผู้ปกครอง ชุมชนมีส่วนร่วม กับกิจกรรมส่งเสริมอาเซียนที่โรงเรียนจัด
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการ ตามส่วนขยายของการประเมินผลผลิต ดังนี้
4.1 การประเมินผลกระทบของโครงการ ตามความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรก ดังนี้ ครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นว่า ครู มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนตามเนื้อหาการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ถัดมาคือ นักเรียนสามารถแสวงหาความรู้และเลือกใช้สารสนเทศตัดสินใจภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน ส่วนนักเรียนและผู้ปกครอง เห็นว่านักเรียนสามารถแสวงหาความรู้ เลือกใช้สารสนเทศตัดสินใจภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน ถัดมาคือชุมชนมีองค์ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
4.2 การประเมินประสิทธิผลโครงการ ตามความคิดเห็นของครู และนักเรียน ในด้านความรู้ ทักษะ/กระบวนการ และเจตคติ มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่างมากถึงมากที่สุด ดังนี้
4.2.1 ด้านความรู้ ทั้งครูและนักเรียนให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า นักเรียน มีความรู้โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรก ดังนี้ อันดับแรกทั้งครูและนักเรียนมีความเห็นสอดคล้องกันคื นักเรียนสามารถอธิบายเกี่ยวกับสิทธิเด็กในประเทศอาเซียน ลำดับถัดมาครูเห็นว่า นักเรียนสามารถอธิบายเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในประเทศอาเซียนส่วนนักเรียนเห็นว่านักเรียนสามารถอธิบายเอกลักษณ์ไทย
4.2.2 ด้านทักษะ/กระบวนการ ทั้งครูและนักเรียนให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า นักเรียนมีทักษะ/กระบวนการโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรก ดังนี้ อันดับแรกทั้งครูและนักเรียนมีความเห็นสอดคล้องกันคือ นักเรียนมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์ ลำดับถัดมาครูเห็นว่า นักเรียนสามารถการควบคุมตนเองยอมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์ ส่วนนักเรียนเห็นว่า นักเรียนเคารพและยอมรับความหลากหลาย ทางวัฒนธรรมในประเทศอาเซียน
4.2.3 ด้านเจตคติ ทั้งครูและนักเรียนให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า นักเรียนมีทักษะ/กระบวนการโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรก ซึ่งทั้งครูและนักเรียนมีความเห็นที่สอดคล้องกันคือ นักเรียนมีความภูมิใจในความเป็นไทย และนักเรียนแสดงออกถึงการใช้ชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย
4.3 การประเมินความยั่งยืนของโครงการ ตามความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรก ดังนี้ อันดับแรกทั้งครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง ให้ความเห็นสอดคล้องกันคือ มีแนวปฏิบัติการบริหารโครงการอย่างเป็นระบบ ในการพัฒนาการเรียนรู้สู่ประชมคมอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ลำดับถัดมาตามความเห็นของครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเห็นว่าโครงการต้องธำรงรักษาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ส่วนนักเรียนและผู้ปกครองเห็นว่า ผู้บริหาร ผู้ร่วมโครงการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการต่อไปในอนาคต
4.4 การประเมินการถ่ายทอดส่งต่อโครงการ ตามความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรก ดังนี้ อันดับแรก ทั้งครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันคือ มีการจัดกิจกรรมนิทรรศการอาเซียน ภายในโรงเรียนให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลำดับถัดมาครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเห็นว่า มีแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการอย่างเป็นรูปธรรม ให้สถานศึกษาอื่นนำไปศึกษาเทียบเคียง ส่วนนักเรียนและผู้ปกครองเห็นว่า มีการถ่ายทอด องค์ความรู้สู่ชุมชน
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. ควรมีการอบรม ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารโครงการถึงแนวคิด หลักการ ประโยชน์ของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างชัดเจน พร้อมกำหนดเป้าหมาย และแนวทางในการพัฒนาโครงการร่วมกัน
2. ควรมีการสร้างศูนย์เครือข่ายอาเซียนศึกษาภายในโรงเรียน เพื่อเป็นตัวเชื่อมโยงในการประสานงานระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง ชุมชน หรือระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาโครงการ
3. ควรมีการนิเทศ เสริมแรง แก่ผู้ร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คำแนะนำ สร้างขวัญกำลังใจในการพัฒนาโครงการ โดยเน้นการนิเทศแบบกัลยาณมิตร
ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยประเมินในครั้งต่อไป
1. ควรมีการวิจัยประเมินเชิงคุณภาพ เช่น การสนทนากลุ่ม หรือการสัมภาษณ์เชิงลึก ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนในบริบทโรงเรียนที่มีขนาดต่างกันเพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุง พัฒนาปัจจัยดังกล่าวในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
2. ควรมีการศึกษายุทธศาสตร์ และมาตรฐานการพัฒนาการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนทั้งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เอกชน และอาชีวะศึกษา
3. ควรมีการศึกษาวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนจากโรงเรียนต้นแบบที่มีขนาดต่างกันทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เหมาะสมกับโรงเรียนในแต่ละขนาด