ชื่อผลงานวิจัย : ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อสาย วิชาชีพ ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
กรณีศึกษา วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
ผู้วิจัย : นางวาสนา สำราญจิต
ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
วุฒิการศึกษา : ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ศษ.ม.) สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
สถานที่ติดต่อ : วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
เลขที่ 999 หมู่ 6 ตำบลด่านขุนทด
อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 30210
โทรศัพท์ 044-081145
ที่ปรึกษา : ดร. สำเร็จ วงศ์ศักดา
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อสายวิชาชีพ ในสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรณีศึกษา วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ และเพื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ของนักเรียนระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในศึกษาเป็นนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 196 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งแบบชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) ตามสาขาวิชาของนักเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามความคิดเห็นแบบมาตราส่วนการประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.82 ซึ่งครอบคลุมตัวแปรเกี่ยวกับปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อสายวิชาชีพประกอบด้วย ปัจจัยด้านเหตุผลส่วนตัว ปัจจัยด้านอิทธิพล การชักจูงจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และปัจจัยด้านภาพลักษณ์ของสถานศึกษา วิธีการดำเนินการวิจัยได้นำแบบสอบถามไปเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง สำหรับสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของตัวแปรโดยการทดสอบไค-สแควร์ (Chi-square) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ปัจจัยด้านเหตุผลส่วนตัวในการเลือกเรียนต่อมีความสัมพันธ์กับปัจจัยส่วนบุคคล ประกอบด้วย อายุ การรับทราบข่าวสารการรับสมัครเข้าศึกษาต่อ อาชีพของผู้ปกครอง และรายได้รวมต่อเดือนของครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า อายุของนักเรียนอยู่ระหว่าง 15-18 ปี คิดเป็นร้อยละ 96.43 ซึ่งอยู่ในวัยเรียน ดังนั้นนักเรียน จึงได้รับทราบข่าวสารการรับสมัครเข้าศึกษาต่อจากครูแนะแนว คิดเป็นร้อยละ 62.76 เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ประกอบกับอาชีพของผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 55.10 และรับจ้าง/พนักงานบริษัท คิดเป็นร้อยละ 31.63 ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้รวม ต่อเดือนของครอบครัวน้อยคือ รายได้รวมต่อเดือนของครอบครัวต่ำกว่า 10,000 คิดเป็นร้อยละ 33.16 และรายได้รวมต่อเดือนระหว่าง 10,001-15,000 คิดเป็นร้อยละ 39.80 ดังนั้นนักเรียนจึงเลือกเรียนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอนาคตเป็นอันดับแรก เลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจ ของตนเอง เลือกเรียนเพราะดูจากผลสัมฤทธิ์ของตนเอง และเลือกเรียนเพราะฐานะทางด้านเศรษฐกิจ ของครอบครัว ตามลำดับ
2. ปัจจัยด้านอิทธิพลการชักจูงจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในการเลือกเรียนต่อมีความสัมพันธ์กับปัจจัยส่วนบุคคลประกอบด้วย อายุ เกรดเฉลี่ยจากสถานศึกษาเดิม การรับทราบข่าวสารการรับสมัครเข้าศึกษาต่ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า อายุของนักเรียนอยู่ระหว่าง 15-18 ปี คิดเป็นร้อยละ 96.43 ได้รับทราบข่าวสารการรับสมัครเข้าศึกษาต่อ จากครูแนะแนว คิดเป็นร้อยละ 62.76 เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ โดยนักเรียนจะมีเกรดเฉลี่ย จากสถานศึกษาเดิมอยู่ระหว่าง 2.01-4.00 คิดเป็นร้อยละ 94.39 ดังนั้นนักเรียนส่วนใหญ่จึงเลือกเรียนต่อเนื่องจากอิทธิพลการชักจูงจากคำแนะนำของครูแนะแนวเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ เลือกเรียนตามที่ผู้ปกครองแนะนำ เลือกเรียนตามรุ่นพี่ที่จบการศึกษา และเลือกเรียนตามกลุ่มเพื่อนสนิทตามลำดับ
3. ปัจจัยด้านหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนในการเลือกเรียนต่อมีความสัมพันธ์กับปัจจัยส่วนบุคคลประกอบด้วย อายุ การรับทราบข่าวสารการรับสมัครเข้าศึกษาต่อ อาชีพของผู้ปกครอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า อายุของนักเรียน อยู่ระหว่าง 15-18 ปี คิดเป็นร้อยละ 96.43 ได้รับทราบข่าวสารการรับสมัครเข้าศึกษาต่อจากครู แนะแนว คิดเป็นร้อยละ 62.76 เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ และอาชีพของผู้ปกครองของนักเรียนจะประกอบอาชีพเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 55.10 และรับจ้าง/พนักงานบริษัท คิดเป็นร้อยละ 31.63 ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่จะเลือกเรียนเพราะเมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ เลือกเรียนเพราะมีสาขาวิชาให้เลือกเรียนที่ตรงกับความต้องการ เลือกเรียนเพราะหลักสูตรมีมาตรฐานและมีคุณภาพ และเลือกเรียนเพราะสาขาวิชาที่เปิดสอนเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ตามลำดับ
4. ปัจจัยด้านภาพลักษณ์ของสถานศึกษาในการเลือกเรียนต่อมีความสัมพันธ์กับปัจจัยส่วนบุคคลคือ อายุของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า อายุของนักเรียนอยู่ระหว่าง 15-18 ปี คิดเป็นร้อยละ 96.43 ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่จะเลือกเรียนเพราะการคมนาคมสะดวก เลือกเรียนเพราะรูปแบบเครื่องแต่งกาย เลือกเรียนเพราะสภาพแวดล้อม
ที่ดีภายในสถานศึกษา เลือกเรียนเพราะสถานศึกษามีชื่อเสียงด้านจัดการเรียนการสอน เลือกเรียนเพราะมีความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่ สื่อโสตทัศน์ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการที่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน นักศึกษาและอื่นๆ เลือกเรียนเพราะมีกิจกรรมการหารายได้ระหว่างเรียน และเลือกเรียนเพราะผู้บริหาร ครู และบุคลากรเอาใจใส่ดูแลความประพฤติของนักเรียน นักศึกษาเป็นอย่างดี ตามลำดับประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาในครั้งนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ งานแนะแนวศึกษาต่อและอาชีพ และแผนกวิชาต่างๆ สามารถนำผลการศึกษานี้มาใช้เป็นแนวทาง ในการพัฒนา ปรับปรุงการบริหารงานและจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนต่อไป
คำสำคัญ : ปัจจัย/การตัดสินใจศึกษาต่อ/วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ