ชื่อเรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนทักษะสำคัญจำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21
โดยการนิเทศแบบคลินิก สำหรับครูผู้สอนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสะเดา
ผู้รายงาน ว่าที่ร้อยตรีสามารถ ศรีจันทร์งาม
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนทักษะสำคัญจำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21 โดยการนิเทศแบบคลินิก สำหรับครูผู้สอนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อศึกษาผลการจัดการเรียนการสอนทักษะสำคัญจำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21 โดยการนิเทศแบบคลินิก ของครูผู้สอนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของครูผู้สอนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการนิเทศแบบคลินิก ซึ่งผู้รายงานดำเนินการศึกษาเพื่อตอบคำถามของการศึกษา ได้แก่ 1) การจัดการเรียนการสอนทักษะสำคัญจำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21 โดยการนิเทศแบบคลินิก สำหรับครูผู้สอนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนและหลังการนิเทศแบบคลินิกเป็นอย่างไร 2) ผลการจัดการเรียนการสอนทักษะสำคัญจำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21 โดยการนิเทศแบบคลินิก สำหรับครูผู้สอนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความแตกต่างกันหรือไม่ และ 3) ระดับความพึงพอใจของครูผู้สอนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการนิเทศแบบคลินิก มีระดับความพึงพอใจแตกต่างกันหรือไม่ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นข้อมูลในปีการศึกษา 2561 จากโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสะเดา ได้แก่ 1) โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเดา) 2) โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านสะเดา) และ 3) โรงเรียนเทศบาล 3 (ชุมชนหมู่บ้านตัวอย่าง) ประกอบด้วย ครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสะเดา จำนวน 5 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสะเดา จำนวน 203 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ สุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) (มาเรียม นิลพันธุ์, 2555: 125) ประกอบด้วย ครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเดา) จำนวน 2 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเดา) จำนวน 144 คน เครื่องมือที่ใช้การศึกษา ได้แก่ คู่มือการนิเทศแบบคลินิก จำนวน 1 เล่ม แบบสอบถามความคิดเห็น คู่มือการนิเทศแบบคลินิก จำนวน 1 ฉบับ แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย จำนวน 1 ฉบับ แบบบันทึกสังเกตการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย จำนวน 1 ฉบับ แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย จำนวน 1 ฉบับ แบบทดสอบสมรรถนะการอ่านและการเขียนวิชาภาษาไทย จำนวน 1 ฉบับ และแบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ความแตกต่างของคะแนนโดยใช้ t-test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. คู่มือการนิเทศแบบคลินิกมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
2. หลังการนิเทศแบบคลินิก ครูผู้สอนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนทักษะสำคัญจำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21 สูงกว่าก่อนการนิเทศแบบคลินิกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผลการสังเกตการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยเน้นทักษะการอ่านและการเขียนของครูผู้สอนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้านการประเมินแผนการจัด การเรียนการสอน และด้านการบันทึกการสังเกตการจัดการเรียนการสอน พบว่า ในภาพรวมมีความสอดคล้อง/เชื่อมโยงเหมาะสมอยู่ในระดับดี
3. หลังการนิเทศแบบคลินิก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีสมรรถนะการอ่านและการเขียนวิชาภาษาไทย สูงกว่าก่อนการนิเทศแบบคลินิกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แสดงให้เห็นว่า ผลการจัดการเรียนการสอนทักษะสำคัญจำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21 โดยการนิเทศแบบคลินิก ของครูผู้สอนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประสบผลสำเร็จ เพราะสามารถพัฒนาสมรรถนะการอ่านและการเขียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนได้ และนักเรียนมีความคิดเห็นว่าบรรยากาศในการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยเน้นทักษะการอ่านและการเขียน ส่วนใหญ่มีปรากฏบ่อยครั้งทุกด้าน
4. ความพึงพอใจของครูผู้สอนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการนิเทศแบบคลินิก อยู่ในระดับมาก