ชื่อเรื่อง การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถของครู
กับประสิทธิผลของโรงเรียนเทศบาล ๑ (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์)
ผู้วิจัย นายนพดล เที่ยงธรรม
ปีที่วิจัย 2560
โรงเรียน เทศบาล ๑ (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) สังกัดกองการศึกษา
เทศบาลเมืองชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์คือ (1) เพื่อศึกษาระดับการรับรู้ความสามารถของครูในโรงเรียนเทศบาล ๑ (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) (2) เพื่อศึกษาระดับประสิทธิผลของโรงเรียนเทศบาล ๑ (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) และ (3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถของครูกับประสิทธิผลของโรงเรียนเทศบาล ๑ (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนเทศบาล ๑ (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) ปีการศึกษา 2560 จำนวนทั้งสิ้น 45 คน โดยผู้วิจัยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง (Sample size) ด้วยตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan,1970:607-610 อ้างใน บุญชม ศรีสะอาด,2551) จากนั้นเทียบบัญญัติไตรยางศ์ และทำการสุ่มอย่างง่าย (Sample Random Sampling) ด้วยวิธีฉลากเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถาม จำนวน 1 ฉบับ แบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Check list) ประกอบด้วย เพศ อายุ ระดับการศึกษา และประสบการณ์ในการทำงาน ตอนที่ 2 แบบสอบถามเกี่ยวกับการรับรู้ความสามารถของครู จำนวน 7 ด้าน รวม 32 ข้อ ตอนที่ 3 แบบสอบถามเกี่ยวกับประสิทธิผลของโรงเรียน จำนวน 4 ด้าน รวม 24 ข้อ ซึ่งลักษณะของแบบสอบถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ให้เลือกตอบได้ 5 ระดับ ตามแบบลิเคอร์ท (Likert) และท้ายแบบสอบถามมีแบบแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมสำหรับครูเกี่ยวกับการรับรู้ความสามารถของครูกับประสิทธิผลของโรงเรียน และได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 45 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงหาค่าความถี่ (F) ร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมารตรฐาน (S.D.) และ ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถของครูกับประสิทธิผลของโรงเรียนเทศบาล ๑ (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) โดยหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า
1. การรับรู้ความสามารถของครูในโรงเรียนเทศบาล ๑ (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) พบว่า การรับรู้ความสามารถของครูโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ความสามารถที่จะขอความร่วมมือจากชุมชน รองลงมา คือ ความสามารถที่จะสร้างบรรยากาศทางบวกในโรงเรียน และด้านความสามารถที่จะขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ความสามารถในการจัดระเบียบ
2. ประสิทธิผลของโรงเรียนเทศบาล ๑ (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) พบว่า ประสิทธิผลของโรงเรียน โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ความสามารถในการพัฒนานักเรียนให้มีทัศนคติทางบวกของนักเรียน รองลงมาคือ ความสามารถในการแก้ปัญหาในโรงเรียน และด้านความสามารถในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาโรงเรียนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ ความสามารถในการผลิตนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้
3. การรับรู้ความสามารถของครูโดยภาพรวม มีความสัมพันธ์ทางบวกกับประสิทธิผลของโรงเรียน อยู่ในระดับสูงมาก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยพบว่า ค่าความสัมพันธ์อยู่ในระดับสูง ถึง สูงมาก โดยเรียงตามลำดับจากค่าความสัมพันธ์มากไปหาน้อย คือ ด้านความสามารถที่จะสร้างบรรยากาศทางบวกในโรงเรียน รองลงมา คือ ด้านความสามารถที่จะขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง ด้านความสามารถที่จะขอความร่วมมือจากชุมชน และด้านความสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ตามลำดับ